มัลเบอร์รี่หรือหม่อนเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอปะคำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการเพาะปลูกกันเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งทำเป็นกลุ่มผู้ปลูกมัลเบอร์รี่ขึ้นมา โดยสมาชิกในกลุ่ม มีจำนวน 40 คน เพาะปลูกมัลเบอร์รี่กันบนเนื้อที่ 20 ไร่ ภายในเขตพื้นที่ตำบลหนองบัว สายพันธุ์มัลเบอร์รี่ที่คนในพื้นที่ปลูกนั้น ส่วนมากจะเป็นพันธุ์เชียงใหม่ 60 ในส่วนของผลผลิตนั้น เมื่อก่อนกลุ่มชาวบ้านมีการจำหน่ายให้กับผู้ค้าคนกลาง ต่อมาเกิดปัญหาต่างๆ ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคาลงบ้าง บ้างก็มาติดต่อรับสินค้าไปแล้วไม่จ่ายเงิน ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ชาวบ้านในชุมชน จึงคิดหาวิธีการแก้ไข โดยการนำผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี มาแปรรูปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้วัตถุดิบในธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในชุมชน นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า
วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีสมาชิกทั้งหมด 20 คน ภายในกลุ่มนั้นมีการทำผลิตภัณฑ์หลายอย่าง อาทิเช่น ข้าวเกรียบ ข้าวแต๋น กล้วยตาก ไวน์มัลเบอร์รี่ ข้าวตอกหรือกระยาสารท เป็นต้น
ในส่วนของสถานที่จัดทำ และอุปกรณ์นั้น ได้มีผู้เข้ามาสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อาทิเช่น กลุ่มพัฒนาชุมชนสามัคคี สนับสนุนเงิน 10,000 บาท เพื่อจัดทำโรงเรือน กลุ่มเกษตรในตำบล สนับสนุนเตาอบลมร้อน 1 เครื่อง กรมหม่อนไหม สนับสนุนอุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ เช่น เตาแก๊ส หม้อขนาดใหญ่ กระทะขนาดใหญ่ ตะหลิว และอุปกรณ์อื่นๆ
ก่อนเจอพิษเศรษฐกิจ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส covid-19 ชาวบ้านได้มีรายได้ประมาณ 12000 บาท ถึง 15,000 บาทต่อเดือน แต่ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านเล่าว่า รายได้หดหาย ไปเป็นเท่าตัวอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มฐานลูกค้าที่เคยทำการค้าขายด้วยก็เริ่มทยอยหดหายไปหมด ร้านค้าที่เคยรับสินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจไปจำหน่าย ก็เริ่มลด ปริมาณในการสั่งสินค้าลง บางร้านก็ขอปฏิเสธในการสั่งซื้อ เพราะสินค้า ส่วนมากเป็นอาหารการเก็บรักษาค่อนข้างมีเวลาที่จำกัด และด้วยเหตุผลนี้ทำให้ทางคณะอาจารย์และผู้ปฏิบัติงานกลุ่ม ms 05 ได้เล็งเห็นซึ่งปัญหาที่ชาวบ้านได้พบเจอ จึงเกิดการ จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมัลเบอร์รี่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานและมีประโยชน์มากที่สุด