ข้าพเจ้านายวิริยะ เกาะสูงเนิน ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ณ ศาลาประชาคม หมู่ 1 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2564 ตำบลไทยเจริญ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดบุรีรัมย์

การจัดเตรียมกกไหลเพื่อนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน

การเก็บเกี่ยวและการจักกก
1.การเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์
ในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อเก็บเกี่ยวกก อาจจะใช้เคียว หรือ มีดบาง ก็ได้ ส่วนการจักกกนั้นจะใช้ มีดเล็ก
2. การตัดกก
ในการตัดกก ควรเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์ให้พร้อม ในการเลือกตัดกกนั้น ควรดูว่ากกมีลักษณะที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป โดยสังเกตที่ดอกกกจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล
3.การคัดขนาดกก
ในการคัดขนาดกกนั้นจะทำการคัดแยกกกที่มีขนาดเท่ากันมากองรวมกันไว้ตามขนาดด่างๆ โดยการกำยอดกกไว้แล้วสลัดให้กกที่สั้นกว่าหลุด ออกมาแล้วเก็บรวบรวมกกที่สลัดหลุดออกมารวมกันใหม่ แล้วสลัดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด ซึ่งจะได้กกขนาดต่างกันหลังจากนั้นจึงตัดยอดกกส่วนที่เป็นดอกทิ้งไป เหลือไว้เฉพาะส่วนของลำต้น เตรียมนำไปจักกก
4. การจักกก
ในการจักกก จะนำลำต้นกกที่ผ่านการคัดขนาดแล้ว มาจักเป็นเส้นเล็กๆ โดยใช้มีดขนาดเล็ก ซึ่งกกต้นหนึ่งจะจักออกได้ประมาณ 3-5 เส้น ขึ้นอยู่กับความต้องการความละเอียดของผืนเสื่อ โดยจะตัดใส้ในสีขาวของกกออก เมื่อได้ขนาดเท่ากับหนึ่งกำมือจะนำมามัดรวมกันโดยใช้ไม้ตอกหรือยางรัด
5. การตากกก
เมื่อจักกกจนหมดตามจำนวนกกที่ตัดมาแล้ว มัดกกขนาดเท่ากำมือโดยใช้ไม้ตอกหรือยางรัด นำมาตากแดดให้แห้ง โดยคลี่กกออกให้เป็นลักษณะรูปใบพัด ตากในบริเวณที่แดดจัดๆ แล้วกลับกกขึ้นให้แห้งทั่วถึง ตากไว้ประมาณ 2-3 วัน เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงนำไปจัดเก็บต่อไป
6. การจัดเก็บกก
เมื่อตากกกจนแห้งสนิทดีแล้ว นำกกขนาดเดียวกันประมาณ 8-12 มัด มากองรวมกันแล้วใช้เชือกหรือไม้ตอกมัดเป็นมัดใหญ่ โดยกองหนึ่งอาจมัดได้ 4-5 ช่วง จนกระทั่งหมดจำนวนกก แล้วจึงนำไปจัดเก็บไว้บริเวณที่แห้ง ไม่มีความชื้น พร้อมที่จะนำไปใช้ทอเสื่อหรือย้อมสีกกต่อไป

อื่นๆ

เมนู