“โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้กับประเทศ”

NS02 การยกระดับสินค้าหัตถกรรม ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

นางสาวสุชาวลี พุทธิชนม์ ประเภทนักศึกษา ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

            การปฏิบัติงานในช่วงเดือนกันยายน ได้มีการจัดโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะด้านสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และภาวะโรคซึมเศร้า ณ ศาลาประจำหมู่บ้านโกรกขี้หนู โดยมีวิทยากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประจำตำบลชุมเห็ดมาให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุ อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโดยมีจำนวนตามมาตรการป้องกันที่กำหนด

            ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้ที่เป็นมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป มีอาการหลงลืม และใช้ภาษาผิดปกติ ซึ่งการเสื่อมของสมองจะค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ว่าแต่สาเหตุและการป้องกันภาวะสมองเสื่อมจะมีอะไรบ้าง มีข้อมูลมาฝากค่ะ

         สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

-โรคอัลไซเมอร์ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมมักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป

-สมองขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดเส้นเล็ก ๆ อุดตันซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ทำให้เซลล์สมองตาย

-โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้ ผู้ป่วยจะมีปัญหาในการเคลื่อนไหว

-ขาดวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง

       การป้องกันภาวะสมองเสื่อม

-รับประทานให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

-ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์

-ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า

-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง

-ฝึกสมอง หางานอดิเรกทำ เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมเสริมทักษะความรู้ต่าง ๆ

-ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง โดยเฉพาะการหกล้ม

-ตรวจสุขภาพประจำปี

        ภาวะโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ

     -โรคซึมเศร้าเกิดจากความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอารมณ์

     -สภาพทางจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู ก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่งต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเองและโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่ายเมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น

     -การเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้

        วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนอง ต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว ในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี “ภูมิคุ้มกัน” สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้า ไม่จำเป็นต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างไร เมื่ออาการของโรครุนแรง จนอาจมีอันตรายจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

            การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ชาวบ้านและอาสาสมัครในชุมชน มีความสนใจและได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมโครงการนี้เป็นอย่างดีค่ะ

            ในการทำงานเดือนนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้มีการพัฒนาตนเองในการทำงานและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมมากขึ้น ต้องขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และคณะพยาบาลศาสตร์ ที่ได้มีโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างการทำงานในส่วนของนักศึกษาทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้อีกค่ะ

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู