ข้าพเจ้า นางสาวปวันรัตน์ ถนัดค้า บัณฑิตจบใหม่

หลักสูตร : การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01

ข้าพเจ้าได้ลงสำรวจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานในตำบลบ้านด่านประจำเดือนตุลาคม พ. ศ. 2564

วัตถุประสงค์เพื่อ กรณีศึกษาการฟื้นฟูและขยายพันธุ์นกยูง

ได้รับมอบหมายให้เขียนบทความ เรื่อง นกยูงสายพันธุ์อินเดีย

นกยูงสายพันธุ์อินเดียมีลักษณะรูปร่างและขนาดเหมือนนกยูงไทย ต่างกันตรงที่ขนพู่บนหัวของนกยูงไทยมีลักษณะเป็นจุก แต่ของนกยูงอินเดียแผ่กางออกเหมือนพัด และสีของขนตามตัวของนกยูงไทยเป็นสีเขียวใบไม้ แต่ของนกยูงอินเดียเป็นสีน้ำเงิน มีสีขาวจากจมูกถึงขอบตาด้านบนนัยน์ตา และข้างใต้ขอบตา

จากการลงพื้นที่สำรวจในวัดระหาน (วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน) มักจะพบกันนกยูงสายพันธุ์อินเดียเป็นส่วนใหญ่ในบริเวณสวนปาล์ม นกยูงอินเดียกินเมล็ดพืช เมล็ดปาล์ม ผลไม้ แมลง สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด และอาหารข้น (อาหารปลาที่ทางวัดจัดไว้ให้) เป็นอาหารในการดำรงชีวิต

นกยูงเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณระวังภัยสูง สายตาไวมาก มักหวาดระแวงและสงสัยกับสิ่งผิดปกติเสมอ เช่น เสียงไม้หัก เสียงสุนัข และเสียงดังจากรถของนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่นกยูงชอบนอนบนที่สูงจะจำที่อยู่ได้ดีและมักส่งเสียงเวลาเช้า มีนิสัยที่ไม่ดุร้าย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใกล้และถ่ายรูปได้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่นกยูงรำแพนหางสวยงามที่สุดในรอบปี เป็นจุดเด่นที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี เนื่องจากการพบเห็นนกยูงในธรรมชาตินั้นเป็นการพบเห็นที่ค่อนข้างจะยาก จึงเหมาะแก่การทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นกยูงสายพันธุ์อินเดีย เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมภายในวัดระหาน นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอำเภอบ้านด่านอีกด้วย

ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ เรื่องวัคซีนของนกยูงที่เข้าไม่ถึงในแต่ละปี การอยู่กระจัดกระจายของนกยูงที่ก่อให้เกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ ทำให้นกยูงสายพันธุ์อินเดียพันธุ์แท้ลดน้อยลงทุกปี และการเสียชีวิตของนกยูงจากนักท่องเที่ยวที่ขับรถด้วยความประมาทภายในบริเวณวัดระหาน

ภาพที่ ๑ นกยูงอินเดียที่อาศัยอยู่ในบริเวณวัดระหาน

ภาพที่ ๒ นกยูงอินเดียที่หากินในบริเวณสวนปาล์มภายในวัดระหาน

อื่นๆ

เมนู