ข้าพเจ้า นางสาวพิชญาภา  ปีตะเสน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ (กพร.) ตำบลบ้นด่าน อำเภอบ้านด่าน
หลักสูตร : NS01 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล
เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ได้เข้าร่วมพิธีทอดถวายกฐินอำเภอพร้อมด้วยนายอำเภอบ้านด่าน ปลัดอำเภอ บุคคลากรภายในอำเภอและชาวบ้าน
เมื่อวันอังคาร ที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 07.00 น. ณ วัดทองธรรมชาติ บ้านละเบิก ต.ปราสาท อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์

กฐินเป็นประเพณีที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน  พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ถือปฏิบัติประเพณีการ “ทอดกฐิน” สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี การถือปฏิบัติประเพณี    การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลกฐินในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนประเทศไทย ซึ่งอาจมีปฏิบัติประเพณีนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยกรุงสุโขทัย   เป็นราชธานี ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ ๑

​กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้  โดยคำว่า กฐิน หรือ การกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุ  ผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด   ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ  การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจาก  ผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน  ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการที่การถวายผ้ากฐินนั้น จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน  คณะสงฆ์วัดหนึ่งๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน  กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้น      มีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันเพ็ญเดือน ๑๒) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน

การทอดกฐินมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ ลำดับ ดังนี้คือ

​“กฐินหลวง” คือ กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือไม่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายเป็นประจำ ณ วัดหลวงสำคัญๆ ปัจจุบันมี ๑๖ วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดพระมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชาธิวาส วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดอรุณราชวราราม  วัดราชโอรสาราม วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

​ “กฐินต้น” คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน     ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จฯ ไปอย่างเป็นทางการหรือเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญ     พระราชกุศลส่วนพระองค์

​“กฐินพระราชทาน” เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่     ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปถวายยังวัดหลวง นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่า จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง ๑๖  วัด  เหตุที่เกิดกฐินพระราชทานเพราะว่าปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง  ทบวง  กรมต่าง ๆ  ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคคลใดมีความประสงค์จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงใดก็ติดต่อไปยังกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการตามระเบียบ  ซึ่งเท่ากับเป็นการจองกฐินไว้ก่อนนั่นเอง  และควรถวายหลัง วันแรม ๖  ค่ำ  เดือน  ๑๑ หรือเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดกฐินวันแรกแล้ว  ดังนั้น กฐินพระราชทาน จึงเป็นกฐินที่มีหน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ นำไปถวายนั่นเอง

“กฐินราษฎร์” เป็นกฐินที่ราษฎรหรือประชาชน ผู้มีจิตศรัทธานำผ้ากฐินของตัวเองไปถวายตามวัดต่างๆ ที่มิใช่วัดหลวง ๑๖ วัดที่ได้กล่าวมาข้างต้น

จากการที่ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการทอดกฐินครั้งนี้สิ่งที่ได้คือ เข้าใจประเพณี วิถีความเป็นอยู่ของประชาชนในระแวกนั้น

อื่นๆ

เมนู