ข้าพเจ้านางสาวกัญญาณี คณาศรี บัณฑิตจบใหม่
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
ขนมตาล เป็นขนมไทยดั้งเดิม เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู มีกลิ่นตาลหอมหวานและเป็นขนมที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นขนมที่นิยมทำขึ้นในงานบุญต่างๆ เช่น บุญขึ้นบ้านใหม่ งานมงคลสมรส ทำบุญวันเกิด ซึ่งเป็นขนมคู่สำรับไทยมาตั้งแต่โบราณและเป็นขนมที่นิยมทำกันทุกภาคของประเทศไทย
สำหรับขนมตาล คนในหมู่บ้านเสม็ด หมู่ 20 ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ รู้จักกันดีในชื่อขนมตะโหนดซึ่งเป็นภาษาถิ่น (ภาษาเขมร) ในหมู่บ้านมีบุคคลที่ทำขนมตาลขายอยู่ 1 คน คือ นางนวล ชะงักรัมย์ ซึ่งนางนวลมีอาชีพหลักทำนา โดยถนนระหว่างทางไปนาจะมีต้นตาลเกิดเรียงรายตามข้างถนนและตามคันนาในฤดูที่ต้นตาลออกผลเมื่อมีผลตาลที่สุกแล้วก็จะร่วงหล่นลงพื้นจำนวนมากแต่ไม่มีใครเก็บไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นนางนวลจึงนำผลตาลมาเพิ่มมูลค่าโดยการทำขนมตาลขายเพื่อสร้างรายได้เสริม วิธีการทำขนมตาลของ นางนวล เป็นวิธีดั้งเดิมซึ่งมีวิธีทำดังนี้
- ใช้มือฉีกเปลือกของลูกตาลออก จากนั้นฉีกเอาแต่เนื้อ ใช้มีดเลาะเม็ดออก
- ตั้งน้ำ ใส่เนื้อลูกตาลลงไป ต้มจนเดือด เสร็จแล้วนำมากรองกับกระชอน
- กดและรีดเนื้อน้ำตาลจนได้น้ำลูกตาลที่เข้มข้น
- เอาไปกรองกับผ้าขาวบางอีกรอบหนึ่ง จากนั้นให้นำไปโยง หรือนำไปแขวนทิ้งไว้ 1 คืน ให้ได้เนื้อตาลที่นุ่มเนียน
- ผสมแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย เกลือและหัวกะทิ ค่อยเทลงไปผสมกับแป้ง จากนั้นนำเนื้อตาลที่เราโยงไว้เมื่อคืนและเทกะทิที่เหลือลงไป ตามด้วยผงฟูคนให้เข้ากัน จากนั้นก็หมักแป้งทิ้งไว้
- นุ่งถ้วยตะไลเปล่าๆ ด้วยไฟแรงใช้เวลา 5 นาที จากนั้นก็เปิดฝาหยอดขนมใส่ถ้วยเสร็จแล้วก็โรยมะพร้าวขูดลงไป และนึ่งต่ออีก 25 นาที ด้วยไฟแรงเหมือนเดิม
จากนั้นเราก็จะได้ขนมตาลที่มีเนื้อสัมผัสตาลเต็มคำ หอมละมุนและมีหน้าตาแบบนี้
นางนวลขายขนมตาลชิ้นละ 5 บาท ได้กำไรจากการขายวันละ 100 บาทขึ้น ปัญหาของการทำขนมตาล คือเรื่องของวัตถุดิบ ได้แก่ ผลตาล เพราะผลตาลไม่ได้ได้ตลอดปีจึงสามารถทำขายได้แค่ฤดูที่มีผลตาลเท่านั้น ในส่วนของจำนวนของต้นตาลก็ลดลงและปัจจุบันการปลูกต้นตาลก็ลดลงอีกด้วย
จากบทความข้างต้นดิฉันอยากส่งเสริมการทำขนมตาลโดยใช้เนื้อตาลแท้แบบดั้งเดิมเพราะปัจจุบันหาทานขนมตาลรสชาติดีหาได้ยากเพราะตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการมักจะใส่แป้งและเจือสีเหลืองแทน ซึ่งทำให้ขนมตาลมีเนื้อกระด้าง ไม่หอมหวาน และไม่อร่อย ดังนั้นการทำขนมตาลแบบดั้งเดิมนอกจากจะได้ขนมตาลที่อร่อยยังเป็นการอนุรักษ์วิธีการทำขนมตาลแบบโบราณสืบต่อไปอีกด้วยค่ะ