ข้าพเจ้านางสาวพัชรียา หมวดอ่อน บัณฑิตจบใหม่
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลบ้านด่าน ที่ตั้งของตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สะท้อนให้เห็นถึงด้านความเป็นอยู่ ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่ทั้งสินค้าและสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงแหล่งกระจายสินค้าท้องถิ่นของตำบลบ้านด่าน ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนัก เนื่องจากยังขาดการพัฒนาเอกลักษณ์ที่โดดเด่น รวมถึงการพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว จากการดำเนินงานลงสำรวจข้อมูลพบว่าสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของตำบลนั้นมีอยู่หลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศาสนสถานที่เหมาะสำหรับให้คนที่เดินทางเข้ามาได้มาชื่นชนความสวยงามของธรรมชาติ และเข้ามาศักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สถานที่แรกคือ วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน (วัดระหาน) สถานที่ตั้งอยู่ที่ บ้านระหาน ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ มีต้นไม้น้อยใหญ่มากมายทำให้ร่มรื่น ทั้งมีคลองผ่านทำให้บรรยากาศร่มเย็น มีนกยูงอาศัยอยู่มากมาย มีที่ให้อาหารปลาและที่ทำบุญถวายสังฆทาน และภายในวัดยังมีพระบรมธาตุเจดีย์วัดเกาะแก้ว (วัดระหาน) มีการประดิษฐานพระมหาธาตุรัตนเจดีย์เพื่อเป็นปูชนียสถานระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะขององค์พระมหาเจดีย์ เป็นศิลปะประยุกต์ร่วมสมัย มีความสูง 60 เมตร มี 4 ชั้น โดยในชั้นที่ 1 ใช้เป็นศาลาหรือลานอเนกประสงค์ของวัด ชั้นที่ 2 ใช้เป็นที่กรรมฐานวิปัสสนา ชั้นที่ 3 ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์และประดิษฐานรูปเหมือนของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ชั้นที่ 4 มีการประดิษฐานพระมหาธาตุรัตนเจดีย์เพื่อเป็นปูชนียสถานระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ศาสนิกชนได้กราบไว้และบูชา
สถานที่ที่สองคือ วัดบ้านตะโคงมีประวัติความเป็นมาคือวัดบ้านตะโคงเริ่มสร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยนายน้อย สุขผดุง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมีความคิดริเริ่มและศรัทธาอยากสร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนได้มีสถานที่บำเพ็ญกุศล นายน้อย ทสุขผดุง ได้นำชาวบ้านไปนิมนต์พระจากวัดบ้านใหม่สามแวง อำเภอห้วยราช เมื่อมาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านตะโคง หลวงพ่ออุปัชฌาย์คงได้มอบให้พระมุ จะรีบรัมย์มาพำนักอยู่ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านตะโคงเป็นรูปแรก เมื่อหลวงพ่อมุได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านตะโคง ได้บูรณะวัดอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันวัดบ้านตะโคงได้มีพระเจดีย์สันติคุณและโบสถ์ที่สวยงามเพื่อให้ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านตะโคง บ้านทุ่งสว่าง บ้านโนนเจริญและ บ้านหัวถนน ได้เข้าทำบุญ บำเพ็ญกุศล ในช่วงประเพณีที่สำคัญต่าง ๆ
สถานที่ที่สามคือ วัดกระดึงทอง เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ มีเจ้าอาวาสที่เป็นพระเกจิชื่อดัง และเป็นอดีตเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ (ธรรมยุต) ทำให้วัดมีประชาชนที่รู้จักอย่างมาก และทุกปีทางวัดกระดึงทองมีการจัดงานทำบุญอายุวัฒนมงคล พระราชปัญญาวิสารัท (หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม) มีพิธีสรงน้ำหลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม ทำให้ลูกศิษย์จากทั่วประเทศพากันมากราบไหว้ ภูมิทัศน์ภายในวัดกระดึงทอง มีบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้น้อยใหญ่รายล้อมทั่วทั่งบริเวณวัด มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ตั้งอยู่กลางบริเวณวัดทำให้เงาจากต้นโพธิ์ปกคลุมทั่วบริเวณวัด มีรูปเหมือนของพระราชปัญญาวิสารัท หรือ หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม ที่มีหน้าตักขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางบริเวณวัดให้กับพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ มีศาลาหอฉันชื่อ ศาลาฉันทาคมานุสรณ์ ภายในศาลามีการตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา และให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามาทำบุญประกอบพิธีทางศาสนาเช่นกัน มีโบสถ์เพื่อใช้ในพิธีอุปสมบท ซึ่งตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม
สถานที่ที่สี่คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักบ้านโนนสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ บ้านโนนสวรรค์หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่จัดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่น่าสนใจของตำบล ปลูกพืชผักหลายชนิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว รวมทั้งมุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคม การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การปลูกผักปลอดภัย เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ ได้ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เข้าสู่รับการรับรองแหล่งผลิต GAP ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักบ้านโนนสวรรค์ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแหล่งหนึ่งในตำบลบ้านด่าน สำหรับผู้ที่มีความสนใจในด้านการทำการเกษตร
สถานที่ที่ห้าคือ ศูนย์การเรียนรู้ข้าวแตนด่านทิพย์ ซึ่งมีนางวาสนา ปาละสาร อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้านโยนช้า หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นด่านทิพย์สินค้า otop ของจังหวัดบุรีรัมย์ นางวาสนาได้ดำเนินการก่อตั้งกลุ่มทำข้าวแต๋นมาตั้งแต่ปี 2541 ในปี 2545 จึงได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสินค้า OTOP เอกลักษณ์ที่ทำให้ข้าวแต๋นด่านทิพย์เป็นที่ถูกใจมาอย่างยาวนานคือมีขนาดพอดีคำมีความหอม กรอบ อร่อย สามารถรับประทานเป็นอาหารว่าง หรือ รับประทานกับนม กาแฟ ในตอนเช้าและยังสามารถนำเป็นของฝากได้อีกด้วยนับจากนั้นเป็นต้นมา บ้านโยนช้า หมู่ 7 ก็ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำข้าวแต๋นมีนักเรียน นักศึกษา ส่วนราชการแวะเวียนมาศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งสำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านอาหารและการประกอบอาชีพ
จากสถานที่สำคัญของตำบลบ้านด่านข้างต้นทางกลุ่มผู้จัดทำโครงการจึงได้มีแนวคิดที่จะจัดทำแผนที่ท่องเที่ยวประจำตำบลบ้านด่านซึ่งจะระบุตำแหน่งและเส้นทางการเดินทางซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เข้ามาในตำบลทราบว่าในตำบลบ้านด่านของเรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่หน้าสนใจที่ใดบ้าง ร่วมถึงเส้นทางการเดินทาง ซึ่งทางทีมงานได้ปักหมุดจุดสำคัญเพื่อเตรียมการสร้างแผนที่การเดินทาง โดยมีตัวอย่างการเชื่อมโยงแผนที่ไปยังจุดต่างๆ ดังรูป