ข้าพเจ้านางสาวพัชรียา หมวดอ่อน ประเภท บัณฑิตจบใหม่
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
ภูมิปัญญา ได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์หนึ่งที่ทำให้คนไทยคนในท้องถิ่นได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของวิถีชีวิตตนเอง และสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม องค์ความรู้ของชาวบ้าน หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดที่เกิดจากสติปัญญา ความสามารถของชาวบ้านที่รู้จักการแก้ไขปัญหา หรือการนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน และความเชื่อ เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ได้สั่งสม และสืบทอดกันมาช้านาน หมอเป่า เป็นกลุ่มหมอพื้นบ้านที่มีบทบาทต่อสังคมของคนในชนบท การเป่า เป็นวิธีการรักษาของหมอพื้นบ้าน รักษาอาการเจ็บป่วยโดยใช้เวทมนตร์คาถาเป่าไปตามร่างกายผู้ป่วย บางครั้งอาจจะใช้สมุนไพรในการรักษาด้วย หมอเป่า จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษ เช่น ปู่ ตา พ่อ หรือจากครู หมอเป่าเปรียบเสมือนแพทย์ที่พอจะรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยให้ผู้ป่วยได้ การคิดค่ารักษาอาจเป็นค่าตอบแทนเล็กน้อยเพื่อเป็นสินน้ำใจ หรือถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินอาจรักษาให้ฟรี และเมื่อผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วยก็จะจัดเตรียมของกินของใช้หรือเงินเพื่อนำไปตอบแทนท่านที่ได้รักษาให้จนหายจากการเจ็บป่วย
ภูมิปัญญาหมอเป่า หรือหมอพื้นบ้านที่ชาวบ้านในอำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ มีไปรักษาอยู่ที่ บ้านตะโคง ตำบลบ้านด่าน ชื่อนายมนต์ ผสมศรี อายุ 82 ปี บ้านเลขที่ 84 เป็นหมอเป่าที่ได้รับการสืบทอดมากจากครูซึ่งปัจจุบันครูได้ถึงแก่กรรมแล้ว และไม่ได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้ต่อเนื่องจากผู้ได้รับการถ่ายทอดต้องเป็นผู้ชายแต่บุตรหลายมีเพียงผู้หญิง สำหรับคนที่มารักษา เช่น การเป่ากระดูกที่หักให้เชื่อมกัน โดยการรักษาคือหากกระดูกหักต้องรักษากับทางโรงพยาบาลให้แพทย์รักษาตามขั้นตอนวิธีการก่อน จากนั้นให้มาหาหมอเป่าเพื่อทำพิธีรักษาโดยวิธีการรักษาคือ การท่องคาถาแล้วเป่าลงไปบริเวณที่กระดูกหักที่ยังเชื่อมกันไม่สนิทให้เชื่อมกันได้สนิทหรือเชื่อมกันได้เร็วขึ้น จากการสัมภาษณ์เชิงลึกตัวอย่างการรักษา เช่น การที่กระดูกแขนหักพบแพทย์รักษาตามขั้นตอนแล้วแพทย์แจ้งว่าการหักของกระดูกดังกล่าว ส่งผลให้เป็นอัมพาตไม่สามารถใช้งานแขนได้ แต่เมื่อได้มาเป่ากับหมอเป่าจึงทำให้กระดูกเชื่อมกันได้สนิท ปัจจุบันสามารถใช้งานแขนได้ตามปกติ และนอกจากการเป่าให้กับคนแล้วยังมีการเป่าเผื่อรักษาให้กับสัตว์ เช่น วัว ควาย ในกรณีที่สัตว์กระดูกหักหรือได้รับบาดเจ็บต่างๆ รวมถึงโรคระบาดต่างๆ อดีตเป็นการเป่าโดยน้ำหมากแต่ปัจจุบันใช้การท่องคาถาและลมในการเป่า ซึ่งกลไกการหายของโรคจากการเป่ายังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีกระบวนการอย่างไร แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นความเชื่อและส่งเสริมทางด้านจิตใจของผู้ที่เจ็บป่วยอีกทางหนึ่ง ร่วมกับกระบวนการติดของกระดูกตามธรรมชาติ
แม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์มีความเจริญอย่างรวดเร็ว แต่ภูมิปัญญาหมอเป่าได้รับความนิยมให้ความสำคัญในชุมชนชนบท ซึ่งควรมีการรักษาและสืบทอดภูมิปัญญานี้ โดยอาจจะทำเป็นเรื่องราวผ่านบทความ วีดีโอ หรือเป็นการเล่าเรื่องให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญานี้