การทำนาในตำบลบ้านด่าน
ข้าพเจ้านางสาวพรนัชชา แฉล้มรัมย์ บัณฑิตจบใหม่
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
การปฏิบัติงานในเดือนมีนาคม ข้าพเจ้าและทีมงานได้เริ่มงานวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตามหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งสิ้น 20 หมู่บ้าน แต่ข้อมูลที่ได้มานั้นยังไม่เพียงพอต่อการทำงาน จึงได้ทำการลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติมในเดือนนี้ควบคู่กับการวิเคราะห์ข้อมูล จากการลงพื้นที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่า อาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนในตำบลบ้านด่านนั้นคือการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ทำสวน รวมถึงการทำนาซึ่งมีมากที่สุด
การทำการเกษตรนั้นถือเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ภายในตำบลบ้านด่านโดยเฉพาะการทำนา ซึ่งมีการใช้พื้นที่ถึง 13,841.61 ไร่ เนื่องจากข้าวนั้นถือเป็นอาหารหลักของคนไทย จึงทำให้ผลผลิตที่ได้มานั้นมีทั้งนำมาบริโภคเองและนำไปขายต่อเพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำ ส่วนใหญ่แล้วประชาชนตำบลบ้านด่านจะนำข้าวที่ปลูกได้มาบริโภคเป็นหลัก หากเหลือก็จะขายต่อให้กับนายหน้าที่เข้ามารับซื้อ การทำนาของประชาชนตำบลบ้านด่านนั้นจะเป็นนาปี กล่าวคือการทำนาหนึ่งครั้งต่อหนึ่งปีตามฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการทำนาตามปรกติ โดยจะเริ่มการไถพรวนดินในเดือนเมษายน และเริ่มหว่านข้าวในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งจะเป็นการหว่านข้าวแห้งลงในดินที่ทำการเตรียมไว้เรียบร้อย ในตำบลบ้านด่านนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการทำนาหว่าน เนื่องจากในเดือนนั้นสภาพน้ำไม่เพียงพอต่อทุกหมู่บ้านภายในตำบลสำหรับการทำนาดำ ต้องรอให้มีฝนมาจึงจะมีน้ำเพียงพอต่อทุกหมู่บ้าน จึงทำให้เกษตรกรแก้ปัญหาโดยการทำนาหว่านนั่นเอง ซึ่งในบางปีหากฝนมาช้าจนข้าวที่หว่านไปนั้นไม่เกิด ชาวนาก็จะทำการหว่านข้าวซ้ำเพื่อให้รอน้ำที่กำลังจะมาต่อได้ เมื่อต้นกล้าขึ้นพร้อมกับน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ เกษตรกรก็จะทำการใส่ปุ๋ยเพื่อให้ข้าวนั้นแข็งแรงและออกรวงดี โดยจะให้ปุ๋ยประมาณสองครั้งต่อการทำนาหนึ่งรอบ ข้าวจะเริ่มออกรวงช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม และพร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม โดยการเก็บเกี่ยวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการใช้รถเกี่ยวข้าว การลงแขกช่วยกันเกี่ยวข้าวนั้นยังคงมีให้เห็นเป็นส่วนน้อย และเมื่อข้าวถูกเกี่ยวไปจนหมดทุ่งนา เกษตรกรบางคนจะนำฟางข้าวในนาไปเป็นอาหารให้วัวควายที่เลี้ยง หรือบางคนจะทำการปลูกปอเทือง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เพื่อปรับสภาพดินให้พร้อมต่อการทำนาในปีต่อไป
ซึ่งการทำนาในตำบลบ้านด่านนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เกษตรกรมีข้าวไว้บริโภคหรือนำไปขายเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้ทำนาข้าวของตัวเองด้วยการรับจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดิน หว่านข้าว ใส่ปุ๋ย รวมไปถึงการเกี่ยวข้าว หากเกษตรกรมีพื้นที่และทำนาข้าวเยอะ ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานคนภายในชุมชน ซึ่งบางครั้งจะได้เป็นเงินหรือได้เป็นข้าวไว้บริโภคอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ภายในชุมชนได้อย่างดี