ภูมิปัญญาสมุนไพร : ขมิ้นชันแก้คัน

 

ข้าพเจ้านางสาวกมลลักษณ์ ปะวะถา บัณฑิตจบใหม่

หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01

สมุนไพร (Herb) และ สมุนไพรไทย (Thai Herb) คือ พืช ผัก และผลไม้ที่ถูกนำมาใช้เป็นยาและสิ่งบำรุงร่างกายมานานนับพันปี โดยที่สมุนไพรเหล่านี้มีทั้งแบบนำผล ใบ ราก เปลือก ยาง เนื้อไม้ เถา หัวและดอก หรือทั้งต้นมาใช้งาน ประโยชน์และสรรพคุณของสมุนไพรไทยเหล่านี้มีทั้งการนำมารับประทานสด การนำมาต้มรับประทานแบบยาแผนโบราณ บางชนิดก็ใช้ทาหรือพอกเพื่อรักษาโรค เป็นต้น

ขมิ้น หรือ ขมิ้นชัน ชื่อสามัญ Turmeric ขมิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)  ขมิ้น เป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในตระกูลขิง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าจะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีตั้งแต่สีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด โดยถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ขมิ้นชัน ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคและจังหวัดนั้น ๆ นิยมนำไปใช้ในการประกอบอาหาร แต่งสี แต่งกลิ่นอาหาร เช่น แกงไตปลา แกงกะหรี่ เป็นต้น

ขมิ้นชัน สรรพคุณทางยาของขมิ้นชันกัน ส่วนที่ใช้ก็คือ “เหง้า” ที่มีรสฝาดนั่นเอง โดยเหง้ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการขับน้ำดี ต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดมะเร็งในตับ ช่วยบำรุงตับ นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นใย คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน เป็นต้น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อมีอาการผดผื่น คันตามผิวหนัง คนในท้องถิ่นมักนำขมิ้นชัน มาบดให้ละเอียดและนำผสมน้ำเล็กน้อย เพื่อทาผิว ให้การคันตามผิวหนังบรรเทาลง เพราะ ขมิ้นชัน มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบของผิวอีกด้วย จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการผดผื่นได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะผดผื่นที่มีอาการอักเสบ ให้นำเหง้าขมิ้นมาฝนใส่ลงในน้ำต้มสุก แล้วทาให้ทั่วบริเวณที่เป็นผดร้อนและผื่นคัน ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกให้สะอาด จะสังเกตได้ว่าอาการคันและแสบร้อนจะค่อยๆ ทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากขมิ้นชัน มีข้อดีแล้ว ก็ยังมีข้อเสียอีกด้วย ถึงแม้ขมิ้นจะมีประโยชน์ก็จริง แต่หากร่างกายได้รับมากเกินความต้องการอาจจะกลายเป็นโทษเสียเอง ขมิ้นชันมีผลข้างเคียงคืออาการแพ้ เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ และยังมีความเชื่อเรื่องโทษและข้อเสียของขมิ้นในแถบภาคใต้ว่า การรับประทานขมิ้นที่มากเกินไปและถี่เกินไปนั้นแทนที่จะช่วยป้องกันโรคมะเร็ง อาจจะเป็นมะเร็งเสียเอง

ข้อเสนอแนะ ควรจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาในท้องถิ่นของเรา เช่น ให้ปราชญ์ในท้องถิ่นมาอธิบายองค์ความรู้ เกี่ยวกับสมุนไพรในท้องถิ่น ให้คนรุ่นหลังได้ทราบ ถึงประโยชน์ สรรพคุณ ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาไม่ให้หายไปจากท้องถิ่นของเรา เพื่อให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อยู่คู่กับชุมชนไปอย่างยาวนานยั่งยืน

อื่นๆ

เมนู