อาชีพเสริมของหมู่ที่ 20 บ้านเสม็ด (ไม้กวาดทางมะพร้าว)
ข้าพเจ้านางสาวกัญญาณี คณาศรี บัณฑิตจบใหม่
หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรมในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01
ข้าพเจ้าและทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน ปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด Covid-19 ประจำเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 พื้นที่ที่ได้รับผิดชอบในครั้งนี้ได้แก่ หมู่ 2 บ้านกระดึง หมู่ 16 บ้านหนองบัวทอง และหมู่ 20 บ้านเสม็ด ในครั้งนี้พบว่า อาชีพหลักส่วนใหญ่ที่ทำรายได้ให้แก่ครัวเรือนคืออาชีพเกษตรกร (ปลูกข้าว) สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์ของหมู่ที่ 20 บ้านเสม็ด
ดิฉันและทีมงานได้สอบถาม นายก้อน บุญเจียม ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 20 บ้านเสม็ด ซึ่งมีอาชีพหลักคือทำการเกษตรแต่มีอาชีพเสริมคือ การทำไม้กวาดทางมะพร้าวขาย ดิฉันได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการผลิตและการลงทุนรวมถึงรายได้ที่ได้จากการทำไม้กวาดทางมะพร้าวขาย นายก้อนได้ให้สัมภาษณ์ว่าการลงทุน 1 ครั้งใช้งบประมาณ 2,000 บาท ซึ่งใช้ซื้อวัตถุดิบในการทำได้แก่ เชือก ไม้ไผ่ ก้านมะพร้าวและลวด กระบวนการทำค่อนข้างประณีตและทำยาก นายก้อนทำได้สูงสุด 5 ด้ามต่อวัน และทำขายด้ามละ 40 บาท ซึ่งลงทุน 1 ครั้งทำได้ 100 ด้ามใช้เวลาประมาณ 20 วัน ได้กำไร 400 บาท/ครั้งของการลงทุน ปัญหาที่พบคือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนั่นค่อนข้างหายากและอยู่ไกล ไม้ไผ่ ต้องเหมารถไปซื้อที่อำเภอลำปลายมาศ ก้านมะพร้าวต้องไปซื้อที่บ้านสวายสอและบ้านตะโคง นายก้อน บุญเจียม ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำไม้กวาดทางมะพร้าวให้กับคนในหมู่บ้านที่สนใจในการทำอาชีพเสริมนี้ แต่มีเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นซึ่งรวม นายก้อน ด้วยที่ทำอาชีพเสริมนี้ จึงกลายเป็นเพียงคนจำนวนกลุ่มน้อยที่ทำผลิตภัณฑ์ไม้กวาดทางมะพร้าวของหมู่บ้านเสม็ด หมู่ที่ 20
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่สร้างอาชีพเสริมของหมู่บ้านเสม็ดก็ คือ ไม้กวาดทางมะพร้าว ปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น นายก้อน บุญเจียม อยากให้ช่วยหาแหล่งวัตถุดิบให้มากกว่าเดิมเพื่อที่จะได้มีวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้นและอยากให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์มาช่วยโปรโมทผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก และตนเองพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในการทำไม้กวาดทางมะพร้าวอีกด้วย