ประเพณีการลงปลา ลำน้ำตะโคง

ข้าพเจ้านางสาวศศิวลัย  บุลาลม  ประเภท ประชาชน

หลักสูตร: การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม คหกรรม ในชุมชนสู่มาตรฐาน NS01

แหล่งน้ำที่สำคัญของคนในตำบลบ้านด่านมีชื่อว่า ลำน้ำตะโคง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ไหลผ่านยาวไปจนถึงสุดเขตของอำเภอสตึก วิถีชีวิตของคนในตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรและการจับสัตว์น้ำเนื่องจากมีแหล่งน้ำใกล้เคียง ในอดีตคนในชุมชนนิยมจับสัตว์น้ำเช่น ปลา ปู หอย ในลำตะโคงเพื่อนำไปใช้ในการบริโภค โดยการจับสัตวน้ำนั้นจะมีการใช้เครื่องมือพื้นบ้าน เช่น แห สวิง และยอ เป็นเครื่องมือที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมาใช้ในการจับสัตว์น้ำ แต่ถึงแม้ว่าเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำที่ใช้จะไม่ทันสมัย แต่ในสมัยนั้นปริมาณสัตว์น้ำในชุมชนมีเพียงพอสำหรับการใช้เพื่อดำรงชีวิต รวมถึงแหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ คนในชุมชนจึงสามารถจับสัตว์น้ำได้ตลอด อีกทั้งคนในชุมชนยังมีความเชื่อว่า ปลานั้นจะไม่มีวันหมด

ปัจจุบันประชากรในตำบลบ้านด่าน เพิ่มขึ้นอย่างรวมเร็ว ความต้องการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำก็มีมากขึ้นด้วย ประกอบกับการขยายตัวของคนในชุมชน ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างถนน สร้างสะพาน ฝายเก็บน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาวะถดถอยของทรัพยากรสัตว์น้ำในลำตะโคงให้เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความเชื่อของคนในชุมชนยังคงเป็นเช่นเดิม ทำให้การจับสัตว์น้ำกระทำในลักษณะต่างคนต่างพยายามกอบโกยให้มากที่สุด เพราะคิดว่าแหล่งน้ำเป็นแหล่งน้ำสาธารณะและไม่ได้มีผู้ใดเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะช่วงเริ่มฤดูการประมง หรือช่วงต้นฤดูน้ำหลาก พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่เริ่มวางไข่ได้เข้าสู่ท้องทุ่งถูกจับเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนพ่อแม่พันธุ์เหล่านี้ลดลง ในขณะที่ช่วงน้ำเริ่มลดลูกปลาวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มที่เริ่มอพยพตามน้ำก็ถูกทำการประมงอีก ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนในชุมชน

จากปัญหาข้างต้นทำให้ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนในตำบลบ้านด่าน ได้จัดการประชุมลงมติเพื่อทำข้อตกลงกันเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำในลำตะโคงเพื่อแก้ปัญหาจำนวนสัตว์น้ำที่น้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้มีข้อตกลงเรื่องการจัดบริเวณสงวนพันธ์ปลา โดยข้อตกลงนั้นได้นำไปใช้สำหรับทุกเขตหมู่บ้านในตำบลบ้านด่าน ที่บริเวณหมู่บ้านติดกับลำน้ำตะโคง สำหรับบริเวณสงวนพันธุ์ปลาจะทำการสงวนปลาไว้ตลอดระยะเวลา 1 ปี ห้ามคนในชุมชนเข้าไปจับปลาบริเวณสงวน ตัวอย่างเช่น เขตพื้นที่ของบ้านตะโคงหมู่ที่ 1 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของลำน้ำตะโคงมีพื้นที่ติดกับลำน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีบริเวณสงวนพันธุ์ปลา 1 กิโลเมตรที่เป็นเขตหวงห้าม ส่วนบริเวณอื่นๆ สามารถเข้าไปจับปลาหรือลงปลาได้ตามปกติประมาณ เมื่อครบกำหนด 1 ปี ในช่วงของเดือนเมษายนของทุกปี ผู้นำชุมชนแต่ละหมู่บ้านจะประกาศแจ้งให้คนในตำบลทราบว่าจะมีประเพณีลงปลาในบริเวณที่สงวนไว้ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมจะต้องเสียค่าแรกเข้าสำหรับการลงปลาที่จะแบ่งค่าแรกเข้าจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาปลา คนที่ใช้อุปกรณ์ที่สามารถจับปลาได้ครั้งละจำนวนมาก เช่น แห จะเสียค่าเข้า 150 บาท และผู้เข้าร่วมที่ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กเช่น สวิง ตะแกรงจะเสียค่าเข้าครั้งละ ราคา 50 บาท ทั้งนี้ราคาค่าเข้าจะมีความแตกต่างกันตามมติของหมู่บ้านในแต่ละปี ซึ่งทำให้มีรายได้เข้าหมู่บ้านปีละประมาณ 50,000-100,000 บาท นอกจากประเพณีนี้จะสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านแล้วยังถือเป็นโอกาสที่คนในชุมชนจะเข้ามาจับปลาในบริเวณที่มีปลาชุกชุมที่สุด เพื่อการบริโภคหรือจำหน่าย นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีที่คนในชุมชนจะได้มารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้วิธีการหาปลาในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ แห สวิง ยอ หรือเครื่องมือการหาปลาสมัยใหม่ที่ประดิษฐ์จากแผ่นโลหะสังกะสี พลาสติก เหล็ก เป็นต้น รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนทักษะกระบวนการ วิธีการที่ใช้ในการหาปลาของแต่ละคนเกิดเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านอาชีพ และความสามัคคีให้กับคนในชุมชน

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าประเพณีการลงปลานั้นถือเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการแก้ปัญหาในด้านทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังจะเริ่มลดน้อยถอยลงให้กลับคืนสู่สมดุลทางธรรมชาติ เป็นประเพณีที่ทำให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกันกิจกรรมด้วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะด้านอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการหารายได้เข้าสู่หมู่บ้านทำให้หมู่บ้านมีเงินหมุนเวียนและนำไปใช้ในการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นเราในฐานะคนรุ่นใหม่ก็ควรที่จะอนุรักษ์เคารพกฎและข้อจำกัดที่คนในชุมชนตั้งไว้ รวมถึงร่วมกันสืบถอดและอนุรักษณ์ประเพณีที่สำคัญของคนในชุมชนไว้ให้อยู่คู่กับคนในตำบลบ้านด่านต่อไป

 

การลงปลาประจำปีของลำตะโคง

ที่มารูปภาพ: ผู้ใหญ่หมู่ 1 (การลงปลาปี 2563)

 

อื่นๆ

เมนู