การผลิตเมล็ดพันธุ์ (โครงการข้าวพันธุ์ดี)
ผม นายปฎล ศักดิ์ปกรณ์กานต์ เป็นผู้ดำเนินงาน ตำแหน่งประชาชน ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในหลักสูตร NS02 คณะพยาบาลศาสตร์ ตำบล ชุมเห็ด อำเภอ เมือง จังหวัด บุรีรัมย์
การทำงานในเดือนที่ผ่านมา ตำบล ชุมเห็ด ได้จัดโครงการ “ข้าวพันธุ์ดี” จุดประสงค์เพื่อเป็นการยกระดับพันธุ์ข้าว ในตำบลชุมเห็ด ให้ได้คุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP และการเข้าร่วมการรับรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อนำมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชาวเกษตรกรชุมชนในตำบลชุมเห็ด ซึ่งทางคณะผู้ปฏิบัติงานและคณะพยาบาลศาสตร์ ได้เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว อย่างไรให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะมีดังนี้
- การคัดเลือกพื้นที่ทำแปลงขยายพันธุ์ข้าว
มีแหล่งน้ำใช้พอเพียงตลอดฤดูการผลิต และดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่อยู่ใกล้คอกสัตว์ และบ่อเลี้ยงปลา ไม่เป็นดินกรดจัด หรือด่างจัด
- การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่จะผลิต
เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรสนใจและนิยมปลูก ต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญในพื้นที่
- การวางแผนการปลูกข้าว
หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวต่างจากพันธุ์เดิม เพื่อลดปัญหาข้าวปนจากข้าวเรื้อ กำจัดข้าวเรื้อก่อนเปลี่ยนพันธุ์ใหม่ ห้ามปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่ออากาศ หนาวเย็นในช่วงกันยายน-พฤศจิกายน
- การเตรียมดิน
กำจัดข้าวเรื้อก่อนเปลี่ยนพันธุ์ข้าว หรือ เริ่มทำแปลงขยายพันธุ์ครั้งแรก โดย ตากหน้าดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วใช้โรตารี่ย่ำกลบตอซัง จากนั้นระบายน้ำออกให้หน้าดินแห้ง 2 สัปดาห์ จนข้าวเรื้องอก จึงใช้ขลุบย่ำ กลบข้าวเรื้อ หมักไว้1-2 สัปดาห์ ก่อนคราด ทำเทือก ปลูก
- การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว
ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ สุ่มเมล็ดพันธุ์เพื่อตรวจสอบ ข้าวปน และความงอกก่อนปลูก
- วิธีการปลูกข้าว
หว่านน้ำตม เหมาะสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำชลประทานที่ขาดแคลนแรงงาน ทำนาหลายครั้งต่อปี ไม่มีการเปลี่ยนพันธุ์ โดยนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่ในน้ำสะอาด นาน 1 – 2 ชั่วโมง นำขึ้นหุ้มอีก 36 – 48 ชั่วโมง จนเมล็ดงอกเป็นตุ่มตา ค่อยนำไปหว่านในนาด้วยมือหรือเครื่องหว่านเมล็ด
ในการจัดโครงการครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ ผู้นำชุมชน อสม และชาวบ้าน บ้านหนองไผ่ใหญ่ ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการข้าวพันธุ์ดี และขอขอบคุณอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ที่ได้จัดทำโครงการดีๆแบบนี้ให้กับชุมชน ขอบคุณครับ