ข้าพเจ้า นางสาวเกษมสรณ์ ยิ้มรัมย์ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ เจ้าหน้าที่ดำเนินงาน ตำบลโนนขวาง อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ทำการเก็บข้อมูลมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการตำบล ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ จากการสำรวจชุมชนแห่งนี้ได้พบสิ่งที่น่าสนใจสิ่งหนึ่ง คือ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่ของนางหนูรัตน์ อินสำราญ ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ตำบลโนนขวาง อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
โคกหนองนา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ เป็นการจัดการออกแบบพื้นที่เพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่แหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร โดยโคกหนองนาโมเดล จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนคือ โคก หนอง และ นา
หลักการสำคัญของโคก หนอง นา โมเดล คือการเก็บกักน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งการออกแบบพื้นที่จะให้ความสำคัญต่อการเก็บน้ำ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1. เก็บน้ำไว้ในหนอง: การขุดหนองจะต้องขุดให้คดโค้ง และมีระดับตื้นลึกแตกต่างกันไปในแต่ละจุด ซึ่งก่อนขุดต้องมีการคำนวณปริมาตรนํ้าที่สามารถเก็บได้ในหนองเพื่อให้พอใช้งาน
2. เก็บน้ำไว้บนโคก: ทำได้โดยการปลูกป่าและเก็บในระบบรากของต้นไม้ที่ปลูกไว้ 5 ระดับ ได้แก่ ไม้ระดับสูง ไม้ชั้นกลาง ไม้ชั้นเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน ไม้แต่ละระดับควรจะมีอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 21 ชนิด เพื่อสร้างความหลากหลายของระบบราก เมื่อฝนตกลงมาระบบรากจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในดิน
3. เก็บไว้ในนา: ยกคันนาให้สูงและกว้าง สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกพืชผักไว้บนคันนาได้อีกด้วย
สำหรับโคก หนอง นา โมเดล แห่งนี้ยังคงดำเนินการจัดทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ผู้สำรวจได้เห็นจาการสำรวจเป็นการจัดสรรและใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า เป็นการใช้ชีวิตที่พอเพียงตามแนวพระราชดำริ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบที่สามารถให้ผู้อื่นนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย