ข้าพเจ้า นางวนิดา ปาโนรัมย์ ปฏิบัติงานในตำแหน่งประชาชน และได้เข้าร่วมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณการ (มหาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ) เริ่มประปฏิบัติงานในเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยปฏิบัติงานในเขตตำบล โนนขวาง อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเขตดูแลของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ โดยมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 9 หมู่บ้าน และมีหลังคาเรือนทั้งหมด 1,100 ครัวเรือน และมีการจัดเก็บข้อมูลได้ 239 ครัวเรือน

ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจตามข้อมูล 01 แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน แบบประเมินภาพรวมตำบล ตามแบบฟอร์มที่ทาง กระทรวงอุดมศึกษา (อว.) ได้ให้มา  โดยได้ลงสำรวจที่ตำบลโนนขวาง ทั้ง 9 หมู่บ้าน เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ  เพื่อจะได้นำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชน จึงได้สอบถามข้อมูลจากผู้นำชุมชน และคนในชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ในการนำมาสังเคราะห์ข้อมูลและให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการนำไปพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างแท้จริง

ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ไปพบเห็นชีวิตและการเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน ซึ่งทำให้เห็นถึง การเป็นอยู่ของผู้คนหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ที่ดูเหมือนกันก็คือ ประเพณีพื้นบ้าน เช่น พิธีบวช พิธีแต่งงาน  เป็นต้น มีลักษณะการดำเนินพิธีเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งสามารถแยกประเภทได้คือ กลุ่มที่ทำการเกษตร กลุ่มที่ค้าขายซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า กลุ่มที่รับราชการ กลุ่มรับจ้างทั่วไป แต่ส่วนใหญ่แล้วประมาณร้อยละ 80 ของคนในพื้นที่จะทำการเกษตร

สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจ และเห็นว่า เป็นสิ่งที่ชาวบ้านส่วนน้อยกำลังทำอยู่แต่ก็ได้ผลเป็นอย่างยิ่งก็คือ เรื่อง การทำเกษตรผสมผสานในที่นาของตนเอง หรือที่เรียกว่า โคกหนองนา ซึ่งถือว่าเป็นการทำการเกษตรที่ดีมาก แต่ชาวบ้านกำลังเริ่มทำเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ข้าพเจ้าสังเกตดูหากทำสำเร็จชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จาก โคกหนองนา เป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถที่จะฝากชีวิตไว้กับพืชผสมผสานนี้ได้เลย โดยสิ่งที่เกษตรกรผู้ทำโคกหนองนาได้ดำเนินการทำอยู่ก็คือ มีสระน้ำ และในน้ำก็เลี้ยงปลา รอบๆ บริเวณ ก็ปลูกพืชสวนครัวที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีทั้งที่นาที่สามารถทำนาได้ และสระน้ำนั้น ก็มีการดูดน้ำบาดาลมาใช้โดยอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งถือว่า หากมีการดำเนินการในลักษณะแบบนี้ จะช่วยทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งส่วนที่เหลือก็สามารถนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า หากมีชาวบ้านซึ่งมีที่นาเป็นของตนเองที่มีจำนวนไร่เยอะๆ และทุกคนหันมาทำในลักษณะแบบนี้ ชาวบ้านก็สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง นี้คือ การดำเนินการชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ซึ่งพวกเราสามารถใช้ทฤษฏีนี้มาประยุกต์ในวิถีชีวิตตามปกติของเราได้อย่างยั่งยืน

 

อื่นๆ

เมนู