ข้าพเจ้านางสาววันทิมา จำปาแดง ประเภทประชาชน ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์

  เมื่อวันที่ 4กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาทางทีมงานตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการจัดโครงการสอนทำปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยหมักให้กับพี่น้องชาวบ้านบุ หมู่ที่12 ตำบลปราสาท โดยมีท่านวิทยากรจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์มาให้ความรู้ ร่วมกับท่านผู้นำชุมชนบ้านบุและทีมงานตำบลปราสาทของเรา เพื่อให้ชุมชนบ้านบุได้นำไปเป็นความรู้เพื่อประหยัดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย และสามารถทำปุ๋ยได้ด้วยตัวเราเอง

  ปุ๋ยหมัก คือปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ได้มาจากเศษอาหารซากพืช เช่นฟางข้าว หญ้าแห้ง ซังข้าวโพด ตลอดจนขยะมูลฝอยตามบ้านเรือนมาหมักร่วมกับมูลสัตว์ ปุ๋ยเคมีหรือสารเร่งจุลินทรีย์เมื่อหมักโดยใช้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว เศษพืชจะเปลี่ยนสภาพจากของเดิมเป็นผงเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลปนดำนำไปใส่ในไร่นาหรือพืชสวน เช่น ไม้ผล พืชผัก หรือไม้ดอกต่างๆ

ส่วนประกอบของ การทำปุ๋ยคอกหมัก
1.ปุ๋ยคอก 1 ส่วน (1 กระสอบ)

2.แกลบ 1 ส่วน (1 กระสอบ)

3.รำ 1 ส่วน (1 กระสอบ)

4.น้ำ EM ขยาย 1 ลิตร วิธีทำน้ำ EM ขยาย

5.กากน้ำตาล 1 ลิตร

6.น้ำสะอาด 25 ลิตรหรือมากกว่า ซึ่งจะอธิบายในขั้นตอนการทำ

ขั้นตอนการทำ

1) ให้นำปุ๋ยคอกมูลวัวไปตากแดดให้แห้งเกลี่ยให้ทั่ว ตากแดดทิ้งไว้ 1-2 วัน ถ้าปุ๋ยคอกที่ได้มาแห้งแล้ว ก็ไม่ต้องตากแดด

2)เตรียมส่วนผสม ปุ๋ยมูลวัว รำ และข้าวเปลือก อัตราส่วน 1:1:1 เทส่วนผสมทั้งหมดลงพื้นใช้จอบเกลี่ยคลุกเคล้าให้เข้ากัน เมื่อเข้ากันแล้ว ให้เติมน้ำ EM และกากน้ำตาล ผสมน้ำให้เข้ากันนำไปรดที่กองปุ๋ยคอกให้ใช้บัวรดน้ำจากนั้นใช้จอบคลุกเคล้าให้เข้ากัน ลองใช้มือบีบดู ต้องไม่แห้งหรือไม่เปียกเกินไป

3)ให้ตักใส่ไว้ในกระสอบ ตั้งไว้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ให้สังเกตดังนี้ในวันแรกปุ๋ยคอกร้อนมาก ต้องเปิดปากกระสอบให้ความร้อนของตัวปุ๋ยระบายออกไปผ่านไป 2 วัน เริ่มหายร้อนแล้ว ตัวปุ๋ยเริ่มมีการย่อยสลาย สังเกตว่าจะมีฝ้าขาวๆ อยู่ทั่วไปผ่านไป 3 วัน บางส่วนเริ่มย่อยสลายแล้วผ่านไป 5 วัน ลองใช้มือบีบ จะพบว่าเป็นขุยผง ผ่านไป 7 วัน ลองใช้มือบีบ สังเกตดูว่าจะมีฝุ่นคลุ้งหลังจากนั้น หมักต่ออีกประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถนำไปใช้ได้

ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก(ปุ๋ยคอก)

1. ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

2. ช่วยเปลี่ยนสภาพของดินจากดินเหนียวหรือดินทรายให้เป็นดินร่วนทำให้สะดวกในการไถพรวน

3. ช่วยสงวนรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีขึ้น

4. ทำให้การถ่ายเทอากาศในดินได้ดี

5. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ยเคมีและสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้

ติดตามการทำปุ๋ยอินทรีย์หลังจากจัดโครงการ

  เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ข้าพเจ้าและทีมงานตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน ได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลติดตามการทำปุ๋ย  ที่บ้านบุ หมู่ที่ 12 โดยได้ข้อมูลจาก นางสุนีย์ บำรุงแคว้น ซึ่งได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าหลังจากที่ทีมงานตำบลปราสาทและคณะอาจารย์ได้เข้าไปจัดการอบรมทำปุ๋ย ได้มีชาวบ้านบุให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจัดอบรมเสร็จก็จะมีชาวบ้านบางส่วนนำความรู้มาใช้ต่อยอดเพื่อทำปุ๋ยใช้ในครอบครัว และอีกบางส่วนก็ไม่ได้นำความรู้มาใช้หรือมาทำปุ๋ย

  สาเหตุที่ชาวบ้านบางกลุ่มไม่ทำปุ๋ยต่อ เพราะว่า ไม่สะดวกไม่มีเวลา วัสดุอุปกรณ์ไม่พร้อม สถานที่ไม่อำนวย นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถทำต่อได้ และสิ่งที่ชาวบ้านขาดแคลนในการทำปุ๋ยนั่นก็คือปุ๋ยคอก เพราะชาวบ้านบุบางส่วนก็ไม่ได้เลี้ยงวัวหรือเลี้ยงควาย ซึ่งไม่สามารถจะทำปุ๋ยได้เพราะถ้าหากไปซื้อปุ๋ยคอกมาทำเองก็มีราคาค่อนข้างแพง และชาวบ้านก็ไม่ได้สะดวกในการทำ คนที่ไม่ได้ทำปุ๋ยคอกส่วนมากก็จะได้ปุ๋ยหลวงมาใช้บ้างเล็กน้อย หรือบางท่านก็อาจไปซื้อมาใช้เองเพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาในการใช้ปุ๋ย

  การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย คือการนำหน่อกล้วยมาหมักให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการเกษตร เพราะในดินที่มีต้นกล้วยขึ้นจะเป็นดินที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืช ทั้งยังสามารถนำจุลินทรีย์มาปรับสภาพดินให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช จะเห็นได้ว่าที่ใดมีต้นกล้วยขึ้น ดินบริเวณนั้นจะร่วนซุย โปร่ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ จึงเป็นเหตุผลที่เราทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย

  ทําปุ๋ยหมักจากต้นกล้วย ส่วนมากชาวบ้านก็ไม่นิยมทำปุ๋ยหมักจากต้นกล้วย เพราะขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยากและการหาต้นกล้วยก็ยากเช่นกันเพราะบางบ้านก็ไม่ได้ปลูก จึงมีบ้างบางส่วนที่ยังทำต่อในการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์จากต้นกล้วยนั้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะนิยมใช้ปุ๋ยคอกกัน ประโยชน์การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์จากต้นกล้วย ก็มีประโยชน์มากมายหลากหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น 1.เพื่อใช้ฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมจากการทำนาเคมี เพราะส่วนมากคนสมัยใหม่จะนิยมใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสารเคมีก็อาจจะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียค่อนข้างเยอะเหมือนกัน 2.เพื่อเพิ่มน้ำหนักรวง ช่วยให้เมล็ดข้าวเต่งตึงได้น้ำหนักดี นี่คือประโยชน์เบื้องต้นของการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์จากต้นกล้วย

วิธีการทำปุ๋ยจุลินทรีย์

หั่นหรือสับหน่อกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กๆ
กากน้ำตาล ผสมน้ำ 10 ลิตร นำสารเร่ง พด.2 ผสมลงไป คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
นำหน่อกล้วยสับแล้ว ใส่ในถังพร้อมน้ำเปล่าทั้งหมด และส่วนผสมกากน้ำตาลกับสารเร่ง พด.2 คนส่วนผสมให้เข้ากัน
ปิดฝาไม่ต้องสนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม ระหว่างการหมักคนหรือกวนทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เพื่อการระบายก๊าซและทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดีขึ้น
หมักนาน 21 วัน กรองน้ำใส่ขวดไว้ใช้ได้
การใช้

น้ำหมัก 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นลงดิน จะทำให้ดินร่วนซุย ฉีดพ่นทางใบลดปริมาณน้ำหมักลงครึ่งหนึ่ง

ฉีดพ่น ปีละ 2 ครั้ง ช่วงก่อนออกดอกและช่วงหลังตัดแต่งกิ่ง

จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 มีจำนวน 60 คน จำนวนผู้ที่ทำปุ๋ยต่อมีทั้งหมด 37 คน ส่วนใหญ่ที่ทำ คือปุ๋ยกลับกอง(ปุ๋ยคอก) เพราะคนในชุมชนบ้านบุค่อนข้างเชี่ยวชาญด้านการทำปุ๋ยกลับกองหรือปุ๋ยคอก ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เพราะยังสามารถหาวัสดุในท้องถิ่นหรือชุมชนได้

จำนวนผู้ที่ไม่ทำปุ๋ยต่อมีทั้งหมด 23 คน คนในชุมชนบ้านบุบางส่วนได้ให้ข้อมูลว่าส่วนมากจะไม่มีเวลาในการทำ ถ้าหากจะทำวัสดุที่ต้องซื้อก็ค่อนข้างแพงเพราะต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างพอสมควร หรืออาจจะต้องใช้เวลาในการทำปุ๋ยนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนจํานวนหนึ่งไม่สามารถทำปุ๋ยต่อได้ อาจจะซื้อปุ๋ยคอกในชุมชนบ้านบุเองเพื่อเป็นการอุดหนุนกันให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนบ้านบุ

  ขอขอบคุณข้อมูลจากคนในชุมชนบ้านบุ หมู่ที่ 12 ที่ให้ความร่วมมือกับทีมงานตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน ในการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลและการจัดโครงการอบรมขึ้น

 

 

อื่นๆ

เมนู