ข้าพเจ้านางสาวปริญญารัตน์ จันทร์สิงห์ ประเภทประชาชน ทีมปฏิบัติงานตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการชุมชนสู่การยกระดับการท่องเที่ยว เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด โดย คุณพาพัชร์ ศรีชนะ ณ 239 หมู่ 6 บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และข้าพเจ้าได้เข้าร่วมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรในชุมชน ณ ศาลาประชาคมบ้านบุ ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบติดตามผลของโครงการ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านขาม และ หมู่ที่ 17 บ้านสะแก ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์                                                                                

 

         ธนาคารน้ำใต้ดินคืออะไร?

          ธนาคารน้ำใต้ดินจะมี 2 ประเภท คือธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด และธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบเปิด ถ้าทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 ประเภท ควบคู่ไปด้วยกันจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้สมบูรณ์ เพราะธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดมีหน้าที่ในการเติมน้ำลงดิน โดยนำน้ำที่มีบนดินลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็ว เพราะโดยทั่วไป น้ำที่อยู่บนผิวดินกว่าจะซึมซับลงในชั้นดินแต่ละชั้นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชั้นผิวดินมีอากาศแทรกอยู่ ทำให้การซึมซับน้ำลงดินได้ช้าการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเปิดช่องผิวดินเพื่อการเติมน้ำลงใต้ดินโดยตรงในระดับบนสุดของเปลือกโลกชั้นผิวดิน โดยน้ำที่เติมลงสู่ใต้ดินเป็นน้ำเหลือใช้และน้ำที่เกินจากความต้องการ เช่น น้ำฝน ที่ตกลงมาบนพื้นดินจำนวนมากเกินกว่าที่บ่อใช้รองรับน้ำฝนได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากสะสมนานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสุขภาพของผู้คนในชุมชน

          หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด คือการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน แต่ไม่ทะลุชั้นดินเหนียวลงไปสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ โดยมีเป้าหมายสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดการไหลบ่าของน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การเก็บน้ำด้วยวิธีนี้ จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง แต่กรณีพื้นที่ใกล้เคียงกับระบบปิดนี้มีบ่อน้ำตื้นหรือบ่อน้ำซับ ความชุ่มชื้นของดินจะส่งผลทำให้น้ำในบ่อดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือในบางพื้นที่สามารถขุดบ่อน้ำตื้นได้ในระดับไม่เกิน 2-3 เมตร อาจจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

          การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เนื่องจากปัจจุบันชุมชนเมืองขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ระดับต่ำกว่าเกิดความเสียหายในเรื่องน้ำท่วมขัง การระบายน้ำ หรือน้ำเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาน้ำเสียที่ท่วมขังในชุมชนเมือง ขณะเดียวกันแนวคิดนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและปัญหาขาดแคลนน้ำหรือสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย ปกติแล้วพื้นที่การเกษตรแต่ละปีมักจะมีฝนตกอยู่ 5-6 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่ จะรับน้ำฝนที่ตกลงมาได้ราว 2,500 ลูกบาศก์เมตร น้ำฝนที่ตกจากที่สูงไหลลงพื้นที่ต่ำ พื้นที่สูงจึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ต่ำกลายเป็นแหล่งรวมน้ำฝนจนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่การเกษตรจึงช่วยเก็บน้ำส่วนเกินลงสู่ใต้ดิน นอกจากลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่การเกษตรอีกด้วย

ประโยชน์ของการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน

  1. ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น
  2. ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะสามารถสูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินใช้ได้ตลอดเวลา
  3. ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็ม เพราะมวลน้ำเค็มจะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำจืด ฉะนั้นน้ำเค็มจะอยู่ด้านล่าง
  4. ช่วยแก้ปัญหาน้ำสกปรก เพราะระบบน้ำแบบปิดจะช่วยกรองน้ำให้สะอาดขึ้น

                

             ในการปฏิบัติงานของโครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้พบปัญหาเรื่องฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ซึ่งส่งผลกระทบกับธนาคารน้ำใต้ดินโดยตรง เพราะทำให้ประสิทธิภาพของน้ำที่ซึมลงไปในธนาคารน้ำใต้ดินนั้นช้าพอสมควร เนื่องจากธนาคารน้ำใต้ดินได้จัดสร้างขึ้นในที่กลางแจ้ง แต่ก็ไม่เป็นปัญหากับผู้ร่วมโครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเลย ต่างแสดงความขอบคุณ และแสดงความพอใจเป็นอย่างมากที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นอีก เพื่อจะได้เพิ่มจำนวนการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินให้มากขึ้น

 

          ในการปฏิบัติงานและการดำเนินโครงการครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับความร่วมมือจากทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลปราสาททุกคน ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำให้การดำเนินโครงการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี ในการติดตามผลของโครงการ ถือว่าการสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชน ลดการส่งกลิ่นเหม็น น้ำท่วมขัง ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนในชุมชนอีกด้วย

 

อื่นๆ

เมนู