ข้าพเจ้านางสาวศิริลักษณ์ หานะพันธ์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ดำเนินงาน ประเภท บัณฑิตจบใหม่ ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
สืบเนื่องจากการสำรวจพื้นที่ชุมชนในตำบลปราสาทจึงพบปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนตำบลปราสาท คือ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และเกิดภัยแล้งขึ้นในช่วงฤดูร้อน จึงได้มีการปรึกษาหารือร่วมกับทีมปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเกิดโครงการธนาคารน้ำใต้ดินขึ้น ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4-5 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแก้ภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนในชุมชนตำลปราสาท
ธนาคารน้ำใต้ดินคืออะไร
ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การขุดหลุมลักษณะ ก้นครก เพื่อจัดกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงฤดูฝน ไว้สู่ใต้ดิน ตั้งแต่ระดับใต้ดินถึงความลึกของหลุมที่ขุด เพื่อให้น้ำกระจายออกในแนวระนาบของ ชั้นใต้ดิน โดยหลักการของธนาคารน้ำใต้ดิน คือ ก่อนนำน้ำมาใช้ ต้องมีกระบวนการเติมน้ำเข้าไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำใต้ดินก่อน เหมือนกับการฝากเงินในธนาคารก่อนจึงจะสามารถถอนมาใช้ได้ โดยการเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงฤดูฝนไปเก็บไว้ยังชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งจะเป็นการ ป้องกันการเสียสมดุลของน้ำใต้ดิน พูดกันง่ายๆ คือ การนำน้ำไปฝากไว้ใต้ดิน เมื่อต้องการนำมาใช้ก็ทำการเบิกทำการถอนมาใช้ คือช่วงหน้าแล้งก็ต้องทำการนำน้ำใต้ดินที่ฝากไว้กับธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้นั่นเอง
ธนาคารน้ำใต้ดิน มี 2 ระบบคือ ระบบปิดและระบบเปิด
ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด คือ จะทำเป็นแบบในสวนในไร่ขนาดใหญ่ที่ทำบ่อน้ำขนาดใหญ่แล้วทำธนาคารน้ำในบ่อน้ำ คือการขุดหลุมก้นบ่อลงไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ประมาณ 3 หลุม น้ำจากหลายแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนหรือน้ำที่สูบขึ้นมาใส่บ่อจะไหลลงเก็บอยู่ที่ก้นหลุมหรือชั้นหินอุ้มน้ำ เมื่อน้ำถูกเก็บจนเต็มชั้นหินอุ้มน้ำโยงใยจนเป็นเครือข่ายน้ำจนปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ทีนี้เราก็สามารถใช้น้ำในบ่อน้ำนี้ได้ตลอดปีโดยไม่ต้องไปสูบน้ำจากแหล่งน้ำอื่นไกลๆอีกต่อไป
ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด คือ เน้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในครัวเรือน และเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมประชาชนให้ร่วมด้วย ช่วยกันลดปริมาณน้ำหลากในช่วงฝนตก โดยการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในบริเวณบ้านหรือพื้นที่ ของตนเอง ซึ่งระบบปิดนี้สามารถช่วยชุมชนและ ท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำหลากในช่วงฝนตกให้ง่ายขึ้น อีกทั้งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด จะทำแบบบ่อเล็ก ขนาด 1.20 เมตร ปากหลุมกว้าง 80 เซนติเมตรหรือ 1.20 เมตร
วิธีทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด
วัสดุอุปกรณ์ในการทำธนาคารน้ำ
- ท่อPVC ขนาดประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ2 เมตร
- ล้อรถยนต์เก่า 3-4 อัน
- เศษหิน,อิฐที่ทุบทิ้งนำมาใช้ได้
- ขวดน้ำพลาสติก,ขวดแก้ว
- ผ้ามุ้งเขียว
ขั้นตอนวิธีการทำ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด
- หาพื้นที่ในสวนที่น้ำชอบขัง หรือพื้นที่ในบ้านตามแนวชายคาบ้านตามแนวที่เป็นจุดรองรับน้ำฝน
- ขุดหลุมให้เป็นทรงครก ปากหลุมกว้างก้นหลุมเล็กกว่าเล็กน้อย ลึกประมาณ1.20-1.50เมตร ความกว้างของปากหลุมประมาณ1เมตรหรือ1.20เมตร
- ก้นหลุมให้ขุดลงอีกกว้างประมาณ20เซนติเมตรลึกประมาณ10เซนติเมตร แล้วใช้ก้อนหินวางจนเต็มหลุม
- ใช้ยางรถยนต์วางลงไปตั้งให้ตรงเป็นจุดศูนย์กลางของหลุม หลังจากนั้นใส่ท่อพีวีซีลงไปวางบนก้อนหินที่เราถมไว้
- ขวดน้ำเปล่าให้กรอกน้ำให้เกือบเต็มหรือประมาณ80%ของขวด แล้วใส่ลงไปในหลุมให้เต็ม
- ใส่เศษหิน,อิฐลงไปทับให้เต็มทั้งนอกและในของยางรถยนต์ ขวดน้ำที่เป็นแก้วก็ใส่ลงไป
- ใส่ให้จนเต็มบ่อที่ขุดจนถึงปากหลุม ชั้นบนสุดให้ใส่เศษหินทับให้แน่น เสร็จแล้วใช้ผ้ามุ้งเขียวปิดคลุมปากหลุมไว้
- ปิดปากหลุมด้วยเศษก้อนหินกรวดก้อนเล็กๆปิดทับมุ้งเขียวเก็บมุมเป็นอันเรียบร้อย
ประโยชน์ของธนาคารน้ำใต้ดิน
- ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น
- ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะสามารถสูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินใช้ได้ตลอดเวลา
- แก้ปัญหาน้ำเค็ม เพราะมวลน้ำเค็มจะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำจืด ฉะนั้นน้ำเค็มจะอยู่ด้านล่าง
- แก้ปัญหาน้ำสกปรก เพราะระบบน้ำแบบปิดจะช่วยกรองน้ำให้สะอาดขึ้น
ในวันที่ 12 กันยายน 2564 ทางทีมปฏิบัติงานตำบลปราสาท ได้ทำการสำรวจติดตามผลโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ได้จัดขึ้นในวันที่ 4-5 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยการสอบถามจากคนในชุมชนหลังจากที่มรการจัดโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน มีประสบผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ปัญหาที่พบในการขุดหลุมเพื่อทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดหรือไม่ เป็นต้น การติดตามผลโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน จากการลงพื้นที่ชาวบ้านขุดเสร็จทั้งหมด 48 หลุม และคาดว่าจะเสร็จเพิ่มอีก 2 หลุม รวมเป็นทั้งหมด 50 หลุม พบว่าร้อยละ 80 ของหลุมที่ทำเสร็จแล้วมีผลออกมาดีมาก ใช้งานได้จริงเมื่อเทียบกับก่อนขุด น้ำมีการซึมลงใต้ดินได้ดีเมื่อฝนตกลงมา น้ำไม่ท่วมขังจากเดิม ส่วนร้อยละ 20 คือพบปัญหาเรื่องของอุปกรณ์ที่ยังขาดเหลือบ้างเป็นบางส่วน และระยะเวลาในการขุดที่เป็นไปได้ช้า เนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงของฤดูฝนทำให้การขุดเป็นไปอย่างยากลำบาก และระยะเวลาในการติดตามเร็วเกินไปแต่ประสิทธิภาพสำหรับการติดตามหลังขุด 1 อาทิตย์เป็นไปในทางที่ดีและเห็นผลจริงจากการขุดในครัวเรือน เพราะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้จริง