ข้าพเจ้านางสาวลภัสรดา ขจัดโรคา ประเภทประชาชน ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากผ้าไหมถือเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนตำบลปราสาท ข้าพเจ้าและทีมปฏิบัติงานจึงได้ทำบทความถึงขั้นตอนและกรรมวิธีการทำผ้าไหมขึ้น เพื่อให้เห็นถึงกรรมวิธีและขั้นตอนของการผลิตเส้นไหม ดังนี้

การทำเส้นไหม

เส้นไหมได้มาจากการนำเอารังของตัวไหมมาปั่นเป็นเส้นใย เส้นไหมนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่เด่นกว่าเส้นฝ้าย คือ มีความเหนียวทนทาน และมีประกายเงางาม ซึ่งการจะนำรังไหมมาปั่นจนเป็นเส้นใยนั้น จะต้องนำไหมสดไปตากหรืออบแห้ง จากนั้นนำรังไหมไปต้มในน้ำสะอาด เพื่อให้รังไหมพองตัว โดยใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆเส้น ซึ่งเรียกว่าการสาวไหม

การสาวไหม

คือ การดึงเส้นใยไหมออกจากรังไหม ซึ่งจะดึงจากรังไหมหลายรังไหม ในขณะที่รังไหมต้มในน้ำร้อนและรังไหมสุกเท่ากันผ่านอุปกรณ์สาวไหม เรียกว่า ไม้คีบกันรังไหม มีรูปร่างเหมือนส้อมมีฟัน 2 ซี่ ซึ่งรังไหมที่จะนำมาทำการสาวไหมได้นั้นต้องนำไปอบ หรือตากแห้งก่อนจึงจะนำมาทำการสาวไหมได้ ในกรณีที่ยังไม่ทำการสาวไหมทันที ชาวบ้านจะนำรังไหมไปต้ม จากนั้นนำไปตากแห้ง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้สามารถเก็บรังไหมไว้ได้นานถึง 6 เดือน โดยที่เส้นใยที่ได้ไม่เสียคุณภาพ

  

 

รูปภาพการสาวไหม

          การสาวไหมแบบพื้นบ้าน มีขั้นตอนคือ เมื่อต้มน้ำจนเดือด 90 องศาแล้ว นำรังไหมใส่ลงไปในหม้อเพื่อต้มรังไหม แล้วกดรังไหมให้จมลงไปจนสุกทั่วกัน จากนั้นยกไม้คีบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดจากรังไหมติดไม้คีบขึ้นมา เมื่อเส้นไหมติดไม้คีบเกลี่ยรังไหมขึ้นมาแล้ว ใช้มือรวบเส้นไหมที่ติดกับไม้คีบดึงขึ้นมา แล้วสอดเส้นไหมใส่รูตรงกลางพวงสาว ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาว 1 รอบ แล้วพันเกลียวเส้นไหมที่ได้ 7 รอบ แล้วดึงเส้นไหมผ่านพวงสาวลงภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วทำการสาวไหม ซึ่งไหมนี้เรียกว่าไหมเปลือกหรือไหมสาม เพราะเป็นไหมชั้นนอกหรือปุยไหม เป็นขุยรอบนอกของรังไหม เมื่อสาวไหมด้านนอกออกจนหมดแล้วให้ทำการบีบน้ำออกจากรังไหมแล้วนำไปตากพักไว้ ถ้ายังไม่ทำทันทีให้นำรังไหมไปตากให้แห้ง จากนั้นนำรังไหมที่พักไว้มาใส่ในน้ำเปลี่ยนใหม่ที่ต้มจนเดือดพอดีที่ 90 องศาแล้วใช้ไม้คีบกดรังไหมให้จมแล้วจึงทำการสาวไหมอีกครั้ง ไหมที่สาวในขั้นตอนนี้เป็นการสาวไหมชั้นใน ซึ่งเรียกว่าไหมยอดหรือไหมน้อย เส้นไหมที่ได้จะมีความสม่ำเสมอไม่เป็นขุยหรือปุ่มปมเหมือนไหมเปลือก แต่การจะได้เส้นไหมสม่ำเสมอหรือไม่นั้นผู้ทำการสาวไหมต้องมีความชำนาญอย่างดีด้วย ส่วนไหมน้อยที่เมื่อสาวจนเกือบหมดเส้นใย จะเหลือกลุ่มเส้นใยที่อยู่ด้านในสุดก่อนถึงดักแด้ จะเรียกไหมสองหรือไหมเนื้อหรือไหมแลง เนื่องจากไหมจากส่วนนี้มีคุณภาพไม่ดีมากนักจึงมักจะสาวรวมในตอนสุดท้าย แต่ที่ชาวชุมชนตำบลปราสาทมักใช้ทอจะใช้ไหมสาวเลย คือเป็นการสาวไหมรวดเดียวโดยไม่ต้องมีการสาวเปลือก ดั้งนั้นเส้นใยไหมที่ได้จึงมีขนาดใหญ่กว่าไหมน้อย แต่มีคุณภาพดีกว่าไหมเปลือกและไหมแลง ซึ่งเหมาะกับผู้สาวไหมที่มีเวลาน้อยและต้องการความรวดเร็ว เมื่อสาวไหมเสร็จแล้วจะต้องโรยทับเส้นไหมด้วยกรวด เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อไม่ให้เส้นไหมพันกันเมื่อนำไปทำเป็นไจ

การกรอไหม

คือ การนำเส้นไหมที่แห้งดีแล้วมาปั่นเก็บไว้ หรือเพื่อเตรียมเส้นไหมสำหรับนำไปย้อมสี ซึ่งการกรอไหมมีวัตถุประสงค์ เพื่อแยกเส้นไหมให้ออกมาเป็นเส้นๆ ไม่ให้ติดหรือพันกัน และเป็นการสำรวจเส้นไหมให้มีความเรียบร้อย ไม่ขาด ไม่เสียหาย ซึ่งจะช่วยให้สะดวกมากขึ้นในการสาวไหม และเนื่องจากเส้นไหมที่สาวนั้นชาวบ้านมักนำไปปั่นใส่อักสาว ทำให้ต้องมีการนำเส้นไหมที่สาวได้มากรอเพื่อขยายเส้นไหมออกจากอักไปใส่ระวิง เพื่อทำเป็นไจไหม

รูปการกรอไหม

การตีเกลียว

การตีเกลียวไหมจะช่วยทำให้ผ้าที่ทอมีความหนา หลังจากเอาไหมสองไหมสามออก จากนั้นนำมากรอเข้ากง แล้วนำไปหมุนเข้าอัก เพื่อตรวจหาปุ่มปม หรือตัดแต่งเส้นไหมที่ไม่เท่ากันออก แล้วจึงเอาเข้าเครื่องปั่นเพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น ก่อนที่จะหมุนเข้ากงอีกครั้ง เพื่อรวมเป็นไจ เรียกว่า ไหมดิบ ซึ่งเส้นไหมดิบที่ได้จะต้องทำการชุบให้อ่อนตัว โดยนำไปชุบกับน้ำสบู่อ่อนๆหรือน้ำอุ่น แล้วนำไปสลัดและผึ่งลมให้แห้ง โดยมั่นกระตุกให้เส้นไหมแยกตัวเพื่อนำไปเข้าระวิง

รูปการตีเกลียว

จากนั้นก็กรอเส้นไหมเข้าหลอดๆละเส้น แล้วดึงปลายเส้นไหมแต่ละหลอดเข้าไปรวมกัน ม้วนเข้าหลอดควบตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นก็นำไปตีเกลียว เมื่อตีเกลียวเสร็จแล้วก็นำไหมไปนึ่งหรือลวก เพื่อป้องกันมิให้เกลียวเส้นไหมหมุนกลับ หลังจากนั้นก็จะชุบน้ำเย็นแล้วกรอเข้าระวิง ซึ่งจะทำให้เกลียวอยู่ตัว เพื่อเตรียมนำไปย้อมสีและมัดหมี่ในขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนการเตรียมเส้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.การเตรียมเส้นไหมพุ่ง ซึ่งการเตรียมเส้นไหมพุ่งจะเป็นการเตรียมเส้นไหม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่ เมื่อมัดหมี่แล้วจะนำเส้นไหมที่ได้มากรอตีเกลียวเขาหลอดเล็กๆ เพื่อใส่ในกระสวย หรือในชุมชนตำบลปราสาทเรียกว่า กระซูย

2.การเตรียมไหมเครือหรือไหมเส้นยืน โดยการค้นเครือ ซึ่งเป็นกรรมวิธีการนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้นหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการกรอ เพื่อให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนที่ผู้ทำการทอผ้าต้องการ ซึ่ง 1 เครือจะได้ผ้าไหม 20-30 ผืน แต่ในชุมชนตำบลปราสาทจะนิยมทอเพียง 10-15 ผืนเท่านั้น

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องการทอผ้าของคนในชุมชนตำบลปราสาท ส่วนมากคนที่ทอเส้นไหมแบบไหมสาวเลยส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุซึ่งจะทอแบบลายพื้นๆที่มีมาแต่ดั้งเดิม ส่วนการทอผ้าไหมมัดหมี่ทำลวดลายสวยงามจะเป็นกลุ่มวัยกลางคนทำให้มีลวดลายที่แปลกใหม่และทันสมัยสวยงาม

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู