ข้าพเจ้า นางสาวจิรัฐติกรณ์ ซื่อรัมย์ ประเภทประชาชน ทีมงาน NS05 คณะพยาบาลศาสตร์ ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ จากการลงพื้นที่ในเดือนกรกฎาคม 2564 ณ บ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอบ้านด่านจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีหลายหลังคาเรือนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และได้ผลิตเส้นไหมรวมไปถึงการทอผ้าไหม ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมตีนแดงที่นิยมกันมากในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งลายส่วนใหญ่เป็นลายที่ง่าย ๆ ไม่ยากเย็นมากนักในการทอผ้าของชาวบ้าน และที่นิยมทอกันมากคือผ้าไหมที่ใช้ไหมสองสีในการทอที่เรียกว่าผ้าหางกระรอก หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “ผ้ากะนีว” กว่าจะมาเป็นผ้าไหมนั้นต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งบทความในเดือนนี้ ข้าพเจ้าได้นำความรู้เกี่ยวกับการผลิตเส้นไหม ของชาวบ้านตำบลปราสาท โดย ได้เข้าไปสอบถามผู้เลี้ยงไหมในหมู่บ้าน คือ นางนวล ชะเวิงรัมย์ และนางพงษ์ มณีศรี ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงไหมในหมู่บ้าน และสอบถามผู้ทอผ้าคือนางฮวย ชงรัมย์ และนางสังวาลย์ ชะลุนรัมย์ ซึ่งทั้งสองท่านได้เป็นผู้รับจ้างทอผ้า และจากการสอบถามในบ้านปราสาทไม่มีกลุ่มผ้าไหมมีแต่การจ้างทอผ้าเท่านั้น โดยข้าพเจ้าได้เลือกเรื่อง “กว่าจะมาเป็นเส้นไหม”
ผ้าทอหางกระรอกหรือ “กะนีว”
ผ้าไหม หนึ่งผืนใช่มีเพียงความงามที่ปรากฏสู่สายตาเท่านั้น ยังรมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจให้เราได้เรียนรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นกรรมวิธีอย่างน่าอัศจรรย์ใจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นวิถีที่มีมายาวนานกว่า 3,000 ปี โดยการพบหลักฐานจากเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลสำริดของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ชาวอีสานปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน วิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวภาคอีสาน สาวเรื่องราวไปถึงที่มาของเส้นไหมเส้นใยธรรมชาติที่กลายมาเป็นผืนผ้าอัน วิจิตรงดงาม
การทอผ้าซิ่นตีนแดง
“ความเป็นมา กว่าจะมาเป็นเส้นไหมหลากสีสวยงาม”
เริ่ม ต้นจากการปลูกต้นหม่อน ดูแลรักษาให้ได้ใบหม่อนที่มีคุณภาพดี ช่วงเวลาและตำแหน่งการเก็บเกี่ยวใบนั้นสำคัญยิ่งนัก แต่ละใบก็มีความเหมาะสมสำหรับตัวไหมในแต่ละช่วงวัย ในส่วนของการเลี้ยงไหม กระด้งเป็นภาชนะในการเลี้ยงหนอนไหมในระยะฟักตัว วงจรชีวิตหนอนไหมจะอยู่ในกระด้งมีหน้าที่กินใบหม่อน เมื่อย่างเข้าสู่ไหมวัยแก่ จากนั้นจะหยุดกินใบหม่อน เราเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ไหมสุก” ลำตัวหนอนไหมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใสถึง ระยะนี้จะต้องโยกย้ายตัวไหมไปไว้ในจ่อกระด้ง ถึงเวลาแล้วหนอนไหมจะสร้างรังโดยการพ่นเส้นใยรอบตัวถักทอห่อหุ้มตัวเอง เป็นทรงวงรีหนอนด้านในจะพัฒนากลายเป็นดักแด้ ถึงเวลาคัดแยกรังไหมไปสู่กระบวนการสาวเส้นไหม การที่จะได้เส้นไหมที่คุณภาพดีนั้น ต้องพิถีพิถันคัดเลือกรังไหมที่สมบูรณ์ ไม่มีรู ไม่บวม ไม่บุบ ไม่เกิดเชื้อรา ไม่ด้าน ฯลฯ เพื่อให้ได้เส้นไหมที่กลมมีขนาดสม่ำเสมอทั้งเส้น กระบวนการการดึงเส้นไหมออกจากรังไหมด้วยโปรงสราวกับไม้คืบ โดยความร้อนจากน้ำร้อนจะทำให้เปลือกรังอ่อนตัวลง จนสามารถดึงเส้นใยออกมาได้ ลักษณะคล้ายเส้นด้าย เพื่อเส้นไหมที่สาวเรียงระเบียบจึงต้องผ่านวิธีการกรอ และการทำไจไหม เพื่อนำเส้นไหมที่ได้มาย้อมสี สีจากธรรมชาติจะได้ผลลัพธ์ที่ดีสวยติดทนนาน เช่น สีแดงจากคลั่ง สีน้ำเงินจากคราม สีเหลืองจากเปลือกไม้ เป็นต้น เมื่อย้อมจนได้สีที่ต้องการก็นำมาทอไหมด้วย “กี่” เป็นเครื่องมือทอผ้าไหม ทอจนกลายเป็นผ้าไหมผืนงาม
เทคนิคการเลี้ยงหนอนไหมให้แข็งแรงและได้ผลผลิตสูง
1.เลือกใบหม่อนเหมาะสมกับวัยของหนอนไหม
2.ก่อนให้ใบหม่อน ควรมีการกระจายตัวไหมให้สม่ำเสมอ
3.ให้ใบหม่อนที่มีขนาดเหมาะสมกับวัยของหนอนไหม
4.ขยายพื้นที่เลี้ยงให้กับหนอนไหมอย่างเหมาะสม
การเก็บไหมสุก
- ไหมสุก หมายถึง หนอนไหมวัย 5 ที่กินใบหม่อนเต็มที่แล้ว ก็จะเริ่มสุก พร้อมที่จะพ่นเส้นใย ในวัย 5 ใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน ไหมก็จะเริ่มสุก หยุดกินใบหม่อน หากเป็นไหมไทยก็จะสังเกตได้ง่าย คือลำตัวหนอนไหมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส เพราะภายของตัวหนอนไหมส่วนที่เป็น silk-gland ก็จะเต็มไปด้วยสารพ่นใยไหม ซึ่งไหมไทยมีสีเหลืองจึงทำให้เห็นได้ชัด แต่หากเป็นไหมลูกผสมก็จะมีสีขาวใสโปร่งแสง ในระยะนี้หนอนไหมพร้อมที่จะพ่นใยไหมออกมาเพื่อห่อหุ้มตัว เรียกว่า ไหมทำรัง แล้วหนอนไหมก็จะพัฒนาไปเป็นดักแด้อยู่ภายในรัง สภาพที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ ประมาณ 24 องศาเซลเซียส ความชื้นประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์
- การเก็บไหมสุกเข้าจ่อ ให้ทำการเก็บไหมสุกโดยการใช้มือ นำไปใส่ลงในจ่อ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับไหมทำรัง ปริมาณหนอนไหมต่อจ่อจะต้องมีความเหมาะสมไม่แน่นจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรังแฝด ซึ่งเป็นรังไหมชนิดหนึ่งของรังเสีย การเก็บไหมสุกเข้าจ่อจะต้องทำการเก็บให้ทันเวลา คือ จะต้องเก็บไหมสุกเข้าจ่อก่อนที่ไหมสุกจะพ่นเส้นใยทำรัง เพราะจะกระทบต่อผลผลิตรังไหม
- การเก็บเกี่ยวรังไหม ให้หนอนไหมทำรังอยู่ในจ่อประมาณ 5-6 วัน จึงทำการเก็บรังไหมออกจากจ่อ จากนั้นก็นำรังไหมไปทำการสาวเส้นไหมต่อไป
การต่อไหม
ภูมิปัญญาของชาวบ้านนอกจากจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้คุณภาพดีแล้ว ชาวบ้านยังมีเทคนิควิธีในการเก็บพันธุ์หนอนไหม เพื่อใช้ในการเลี้ยงครั้งต่อไปอีกด้วย เรียกว่า การต่อไหม
การต่อไหม หรือ การเก็บพันธุ์หนอนไหมนั้น ชาวบ้านจะเลือกเอารังไหมที่จะให้กำเนิดผีเสื้อไหมหรือบี้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย การคัดเลือกจะเลือกรังไหมที่สมบูรณ์โดยการสังเกตจากรูปร่างภายนอก และจะเลือกเพศของบี้ด้วยวิธีการสั่นหรือเขย่ารังไหม กล่าวคือ เมื่อเขย่ารังไหมแล้วแล้วถ้ารังไหนสั่นหรือคลอนมาก มีน้ำหนัก รังไหมนั้นจะเป็นบี้ตัวเมีย ถ้ารังไหนสั่นหรือคลอนน้อย น้ำหนักเบาจะเป็นบี้ตัวผู้ คัดเลือกรังไหมให้ได้จำนวนตามที่ต้องการโดยประมาณจากปริมาณใบหม่อนที่จะนำมาเลี้ยง และจำนวนเส้นไหมที่ต้องการ ซึ่งจากประสบการณ์การเลี้ยงหนอนไหม รังไหมจำนวน 300 ฝักจะใช้ใบหม่อนในการเลี้ยงประมาณ 1 ไร่ และรังไหมประมาณ 40 ฝัก จะให้เส้นไหมได้ประมาณ 1 หลบ
จากนั้นเก็บรังไหมที่คัดเลือกไว้ให้สุกเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 9-14 วัน ดักแด้ในรังไหมจะกลายลอกคราบเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยหรือบี้ ซึ่งบี้มักจะออกจากรังไหมในเวลาเช้า หลังจากบี้คลี่ปีกออกจะผสมพันธุ์ทันที บี้ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียและมีความว่องไวกว่า และสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ 2 ถึง 3 ตัว แต่ความสามารถในการผสมพันธุ์จะลดลง ถ้าต้องการยืดเวลาการผสมพันธุ์สามารถเก็บบี้ตัวผู้ไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียสได้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยยังคงความสามารถในการผสมพันธุ์อยู่ การผสมพันธุ์นั้นบี้ตัวเมียจะบินเข้าหาบี้ตัวผู้ จากนั้นจะปล่อยให้บี้ผสมพันธุ์กันจนเวลาเย็น จึงจะทำการเก็บหรือแยกบี้ตัวผู้ออกจากบี้ตัวเมีย นำบี้ตัวเมียมาวางบนกระดาษ และนำเอาชามหรือถ้วยครอบตัวบี้ไว้ บี้ตัวเมียจะออกไข่ลงบนกระดาษ อย่างต่อเนื่องโดยปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืนเมื่อถึงเวลาเช้าของอีกวัน จึงเปิดถ้วยหรือชามที่ครอบ จะได้ไข่ไหมประมาณ 300-500 ฟอง แล้วนำบี้ตัวเมียออกจากไข่ ไข่ที่ได้นำไปเลี้ยงให้เป็นหนอนไหมต่อไป ถ้าทิ้งไข่ไหมไว้ประมาณ 1 สัปดาห์จะเกิดตัวหนอนไหมในระยะแรกตัวหนอนจะมีขนขึ้นตามตัว ชาวบ้านจะเรียกหนอนไหมระยะนี้ว่า หนอนขี้ขน หรือหนอนวัย 1 เลี้ยงจนถึงวัย 4 ตัวหนอนใกล้จะสุก ระยะนี้จะกินอาหารหรือใบหม่อนได้น้อยลง และไม่เคลื่อนไหว ชาวบ้านจะเรียกวัยนี้ว่า หนอนเฒ่า ข้อควรระวังในการเลี้ยงหนอนไหมคือ ห้ามมีสารพิษ มดและแมลงต่าง ๆ รบกวนโดยเด็ดขาด