ทอเสื่อกกที่บ้านพูนสุข
กชกร ทองบางโปร่ง
การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชนที่ใช้เวลาว่างจากการทำไร่ทำนามาถักทอ บางส่วนทอเก็บไว้เพื่อทำบุญช่วงเทศกาลประเพณี โดยวัตถุดิบที่ใช้คือต้นกกที่ชาวบ้านปลูกเองจึงหาได้ง่ายในท้องถิ่น ชาวบ้านใช้เวลาว่างทอเสื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างงาน สร้างรายได้ให้ครอบครัว
การทอเสื่อกกเป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอนหรือทำธุรกรรมต่างๆตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ
บ้านพูนสุข คือหนึ่งชุมชนที่มีการสืบสานภูมิปัญญาทางด้านการทอเสื่อกกนี้มายาวนาน การทอเสื่อกก เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินสืบเนื่องกันมาในระบบครอบครัว นับตั้งแต่บรรพชนจนถึงปัจจุบัน เกือบทุกครัวเรือนที่ลูกหลานต่างซึมซับรับรู้ภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อนี้เข้าไว้ในตัว แม้ชาวชุมชนจะมีอาชีพหลักทางด้านเกษตรกรรมการทำนาข้าว แต่ก็มีการปลูกต้นกกไว้ตามบ้านเรือนเพื่อให้ได้วัตถุดิบมาทอเป็นเสื่อสร้างรายได้เสริมยามว่างจากเกษตรกรรม
ขั้นตอนหรือวิธีการในการทอเสื่อกก มีดังนี้
- การตัดกก จะใช้มีดเล็กตัดเกือบถึงโคนต้นกก แล้วนำมากองเรียงเพื่อคัดแยกขนาด ตั้งแต่ความยาว ๙ คืบ ๘ คืบ เรื่อยลงมาจนถึง ๔ คืบ จากนั้นนำแต่ละกองที่มีขนาดเท่ากันมัดเก็บไว้ด้วยกัน ตัดดอกทิ้งเพื่อทำการกรีดเป็นเส้น
- การกรีดจะใช้มีดปลายแหลมที่ทำมาจากใบเลื่อย กรีดแบ่งครึ่งกกแต่ละเส้นถ้าเป็นต้นเล็ก ถ้าเป็นต้นใหญ่ก็กรีดเหมือนกัน แต่จะมีส่วนที่กรีดทิ้ง เพื่อให้แห้งง่าย
- หลังจากได้เส้นกกแล้ว ก็นำไปตาก โดยแผ่วางเรียงเป็นแนวยาว วันแรกจะตากเต็มวัน จากนั้นนำมามัดเป็นมัดเล็กๆ แล้วตากอีกราว ๒ วัน ให้เส้นกกนั้นแห้ง
- การย้อมสี นำกกที่ตากแห้งแล้วมามัดแช่น้ำราว ๑๐ ชั่วโมง เพื่อให้เส้นกกนิ่ม จากนั้นต้มน้ำให้เดือด ใส่สีย้อม แล้วนำเส้นกกที่มัดเป็นกำแช่ลงไปในน้ำสีที่กำลังเดือดทิ้งไว้ ๑๐-๑๕ นาที จึงนำไปแช่น้ำ แล้วนำขึ้นตากในที่ร่มมีลมพัดผ่าน ๓-๔ วัน เมื่อเส้นกกสีแห้ง ก็สามารถนำไปใช้ในการทอได้
- การทอจะร้อยเส้นเอ็นกับฟืมเป็นเส้นยืนตามขนาดของคืบที่กำหนด แล้วใช้เส้นกกใส่กระสวยทอเรียงเป็นเส้นนอนคล้ายการทอผ้า การใส่ลายสีในการทอนิยมใส่ตอนแรก และตอนสุดท้ายของการทอ เมื่อจะเต็มผืน
- เมื่อทอได้เต็มผืนก็มัดริมเสื่อ ตัดเสื่อออกจากกี่ และตัดริมอีกครั้งพร้อมแต่งเสื่อให้มีความเรียบร้อยสวยงาม
วีดีโอประจำเดือนเมษายน