นายปพนวิช ประทุม
ผักหวานเป็น ผัก ที่ใช้ปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด และยังเป็นพืชสมุนไพร มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินซี (vitamin C) บีตา-แคโรทีนซึ่งช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา และมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงและ มีเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่าย
ประเภทของผักหวาน
ผักหวานมี 2่ประเภท ดังนี้
1. ผักหวานบ้าน
2. ผักหวานป่า
ลักษณะของผักหวานบ้าน
ต้นผักหวานบ้าน จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 0.5-3เมตร ลำต้นแข็งแตกกิ่งก้านระนาบไปกับพื้นหรือเกือบปรกดิน ลำต้นอ่อน กลม หรือเป็นเหลี่ยม เปลือกต้นขรุขระเป็นสีน้ำตาล ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้มผิวเรียบ กิ่งเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มต่ำที่มีความชื้นพอเหมาะ ดินร่วนชุ่มชื้นและระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง ตามเรือกสวน หรือตามที่รกร้างทั่วไป
สรรพคุณของผักหวานบ้าน
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากผักหวานเข้าตำรับยารักษาอาการที่เกิดจากธาตุไฟ ได้แก่ โรคขางทุกชนิด (อาการแสดงของธาตุไฟกระทำโทษ) เช่น ขางทำให้มีอาการเสียดด้านข้าง เสียดท้อง ไอ ร้อน ง่วงนอน ขางไฟ ขางแกมสาน ขางรำมะนาดเจ็บในคอ ขางปิเสียบ เป็นอาการจุกเสียดและร้อน ใจสั่น เป็นต้น หรือใช้รักษามะเร็งก้อนเนื้อหรือเนื้องอกที่ผิดปกติ ฝีสาร ซึ่งจะใช้เป็นยาชะล้างฝีที่มีอาการร้อน และยังใช้เข้าตำรับยารักษามะเร็งไฟ มะเร็งคุด สันนิบาตฝีเครือ
- น้ำยางจากต้นและใบนำมาใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ
- ต้นและใบนำมาตำผสมกับรากอบเชยใช้เป็นยาพอก รักษาแผลในจมูก
- รากใช้ฝนทารักษาคางทูม
- ตำรับยาหมอพื้นบ้านที่สันป่าตองจะใช้รากเข้าตำรับยาฝนแก้อาการเจ็บในปาก ปากเหม็น
- ช่วยแก้คอพอก
- ใช้เป็นยาทาป้ายแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในเด็กทารก ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบผักหวานบ้านสด นำมาต้มใส่น้ำผึ้งแล้วนำมาทาลิ้นและเหงือกของทารกที่เป็นฝ้าขาว
- ตำรับยารักษาโรคเลือดลมระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน รากชะอม รากชุมเห็ดเทศ รากมะกอกเผือก รากมะกอกฟานซ้อม รากมะลืมดำ รากมะลืมแดง รากหญ้าขัด กระดูกหมาดำ แก่นจันทนา แก่นจันทน์แดง งาช้าง นำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้า ใช้กินรักษาโรคเลือดลม และถ้าเป็นมากจนตัวแดงให้นำมาทาด้วย
- รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคอีสา
- รากมีรสเย็น น้ำต้มกับรากใช้กินเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้