ประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผี และบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมถึงชาวเขมรหรือกัมพูชาด้วย เป็นการรำลึกและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยประเพณีแซนโฎนตา จะจัดขึ้นทุกปีในช่วง แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ความหมายของแซนโฎนตา ก็คือการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษหรือญาติที่ใกล้ชิด และหมายรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่เจาะจงว่าเป็นใครด้วย ประเพณีแซนโฎนตาเริ่มต้น ดังนี้

1. วันเบ็ณฑ์ตู๊จหรือวันเบ็ณฑ์เล็ก คือวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 10 จะมีทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน และนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด

2. วันกันซ็อง หรือกันเบ็ณฑ์ เป็นวันหลังจากวันเบ็ญฑ์ตู๊จ คือเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ตอนเช้าและเพล ชาวบ้านจะไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่วัด

3. วันแซนโฎนตา หรือวันเบ็ณฑ์ธม (วันสารทใหญ่) คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ญาติพี่น้องทุกคนต้องร่วมกันทำบุญที่วัด เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้ มีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกครั้งที่บ้าน

คำว่า “เบ็ณฑ์” ตรงกับภาษาไทยว่าบิณฑ แปลว่า การรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะทำพิธีแซนโฎนตาแล้วแต่เวลาตามสะดวก สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีแซนโฎนตา ได้แก่ กรวยดอกไม้ 5 กรวย หรือที่เรียกว่าขันธ์ 5 ใส่พานพร้อมทั้งเงินทองของมีค่า เสื้อผ้าใหม่ ผ้าโสร่ง และผ้าซิ่นไหม ที่ยังไม่ได้ใช้ 1 สำรับ พร้อมแป้งหอม น้ำหอม น้ำอบ หวี กระจก สำรับกับข้าว 1 สำรับ เป็ดต้ม 1 ตัว ไก่ต้ม 1 ตัว หรืออานมีหัวหมู ตามแต่ฐานะ กับข้าวต่างๆ ขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมข้าวต้มห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน ขนมข้าวต้มหมู ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ กันกันเตรือม ขนมกันตางราง ขนมนางเล็ด ขนมไข่หงส์ ขนมข้าวเกรียบ ขนมข้าวพอง ผลไม้ต่างๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือ มะพร้าวอ่อนและกล้วยน้ำว้าสุก น้ำดื่ม เหล้า ตามแต่เห็นสมควร เทียน 2 เล่ม จุดไว้อย่าให้ดับ กระถางธูปและธูป ไว้สำหรับจุดเวลาเซ่น และจะใช้ปักไว้ตามจานอาหารด้วย พอตกเย็นชาวบ้านแต่ละคุ้มที่สนิทกัน จะเวียนกันไปแซนโฎนตาตามบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง คนที่ไม่ได้พบปะกันมานานก็จะมีโอกาสได้พูดคุยกัน บางบ้านก็มีการกินเลี้ยงกันสนุกสนาน

อื่นๆ

เมนู