เกษตรผสมผสานสู่รายได้ครัวเรือน
ศรีแพร สวัสดิ์รัมย์
เกษตรผสมผสาน คือ ระบบการเกษตรที่มีการปลุกพืชและการเลี้ยงสัตว์ มีสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกันโดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิด จะต้องสามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในไร่นาอย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีความสมดุลของสภาพแวดล้อม และเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยการทำเกษตรหลากหลายกิจกรรมนั้นต้องทำในพื้นที่และระยะเวลาเดียวกัน เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดดและอากาศอย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลทางสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองโพธิ์ อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ สอบถามข้อมูลนางประคอง เจียสารัมย์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองโพธิ์ เริ่มทำการเกษตรเมื่อปี พ.ศ. 2526 มีที่นาไร่สวนประมาณ 31ไร่ ยึดอาชีพทำนามาตลอด เป็นระยะเวลา 38 ปี พื้นที่ปลูกข้าวในแต่ละปีจะประสบปัญหามากมาย ฝนทิ้งช่วงบ้าง โรคข้าว ข้าวราคาถูก ถูกเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางก็ตาม และด้วยวัยของตัวเองที่เริ่มแก่ตัวจึงหันมาริเริ่มทำเกษตรผสมผสาน น้อมนำตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ.2562 เพราะเล็งเห็นช่องทางที่ก่อให้เกิดอาชีพและนำมาซึ่งรายได้สู่ครัวเรือนโดยใช้พื้นที่นาประมาณ 5 ไร่ มาประยุกต์ใช้ มีการบริหารจัดการทรัพยากรดินภายในพื้นที่ของตนเอง ให้มีความเหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ได้บริหารจัดการน้ำ โดยมีการขุดคลองทำเป็นแก้มลิง เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ขุดสระเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม และเลี้ยงวัวพันธุ์รามัน เลือดร้อย ไก่พันธุ์ไข่ ปลูกข้าว และปลูกต้นไม้หลากหลายสายพันธ์รอบ ๆ บริเวณพื้นที่ การทำเกษตรผสมผสานทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีกินมีอยู่ มีใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เมื่อบริหารพื้นที่ได้สมดุลก็สามารถสร้างผลผลิตที่ดีและขยับขยายไปสู่การทำธุรกิจเกษตรอย่างยั่งยืน โดยอาจจะรวมกลุ่ม ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรที่ดำเนินแนวทางเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีเครื่องมือเกษตรต่าง ๆ ตลอดจนตลาดผู้บริโภคของตนเอง เป็นต้น
วีดีโอประจำเดือนพฤศจิกายน