กบนอกกะลา ที่ ปะคำ

 

กฤติธี วารีชัยสง

               

               บ้านปะคำ เป็นหมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาเป็นหลัก โดยจะมีการทำนาปีละ 1 ครั้ง ตามช่วงฤดูกาลการทำนา และหลังจากช่วงที่ว่างเว้นจากช่วงฤดูกาลการทำนา ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะประกอบอาชีพอื่นๆเป็นอาชีพเสริม บ้างก็รับจ้างทั่วไป บ้างก็เลี้ยงสัตว์ และผู้เขียนได้คัดเลือกอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่น่าสนใจมาเขียนลงในบทความในวันนี้ นั่นก็คือ การเลี้ยงกบ ซึ่งนับว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยง ทั้งยังเลี้ยงง่ายไม่ต้องมีขั้นตอนการดูแลอะไรมากมาย สิ่งที่จำเป็นต้องมีในการเลี้ยงกบ ได้แก่ ลูกพันธุ์กบ บ่อเลี้ยง และ หัวอาหาร

               จากการสัมภาษณ์ป้าแอทผู้เลี้ยงกบ ขั้นตอนแรกนั้นเริ่มจากการเตรียมบ่อ ล้างบ่อให้สะอาด ป้าแอทแนะนำมาว่าหากเป็นบ่อที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องจะทำให้กบที่เลี้ยงมีสีที่ดูสะอาดน่ารับประทาน มากกว่าการเลี้ยงด้วยบ่อประเภทอื่นๆ หลังจากเตรียมบ่อแล้ว ก็นำลูกพันธุ์กบลงไปในบ่อ ซึ่งลูกพันธุ์กบไปซื้อมาจากฟาร์มที่เพาะเลี้ยงกบ ราคาลูกพันธุ์กบราคาอยู่ที่ตัวละ 75 สตางค์ ถึง 1 บาท ป้าแอดได้ลงกบ 600 ตัวในบ่อ หลังจากลงลูกพันธุ์กบเรียบร้อยแล้ว จึงให้หัวอาหารเป็นอาหารขนาดเล็ก ตามความเหมาะสมตามขนาดตัวของลูกกบที่นำลงไปในบ่อ เมื่อลูกกบโตขึ้น จึงค่อยปรับขนาดอาหารให้ใหญ่ขึ้นตามขนาดของกบ โดยจะให้อาหารกบวันละ 2-3 ครั้ง นอกจากนี้ ป้าแอทยังบอกอีกว่า เทคนิคสำคัญที่ทำให้กบที่เลี้ยงไม่มีกลิ่นคาว นั่นก็คือ หมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ใช้เลี้ยงกบเป็นประจำสม่ำเสมอ วันละ 2-3 ครั้ง การเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ใช้เลี้ยงกบบ่อยๆ นอกจากจะทำให้กบไม่มีกลิ่นคาวแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดโรคในกบอีกด้วย แต่หากพบว่ามีกบที่ไม่สมบูรณ์ก็ให้รีบจับแยกออกจากบ่อที่เลี้ยงทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคติดไปยังกบตัวอื่นๆ โดยระยะเวลาในการเลี้ยง 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน กบก็จะโตเต็มที่พร้อมจับออกไปจำหน่าย  ซึ่งจำหน่ายทั้งกบเป็นตัว ชำแหละแยกชิ้นส่วน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท หรือเป็นเมนูอาหารสำเร็จรูป กบสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น กบทอดกรอบ หนังกบทอดกรอบ กบอบสมุนไพร กบยัดไส้ น้ำพริกกบ ฯลฯ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบของแต่ละเมนู ช่องทางจำหน่ายได้จำหน่ายให้กับลูกค้าประจำทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน และโพสต์ขายในเฟสบุ๊ก นอกจากกบที่นำไปจำหน่ายแล้ว กบที่เหลือบางส่วนใช้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ให้กับกบรุ่นต่อๆไปได้ กบที่มีลักษณะตัวใหญ่ สมบูรณ์ แข็งแรง จะถูกคัดไปเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ โดยวิธีสังเกตุตัวผู้และตัวเมียสามารถทำได้โดยสังเกตุได้จากสีที่บริเวณใต้คางกบ โดยตัวผู้จะมีสีที่เข้มกว่าตัวเมีย

               ต้นทุนในการเลี้ยงกบประกอบด้วย ลูกพันธุ์กบ ตัวละ 1 บาท จำนวน 600 ตัว ค่าหัวอาหาร 2,400 บาท รวมต้นทุนในการผลิตประมาณ 3,000 บาท จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ได้เฉลี่ยประมาณ 6,000 บาทต่อบ่อ และยังเหลือพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์กบไว้ต่อยอดสำหรับผลิตลูกกบรุ่นถัดไป จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงกบเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ เพราะเลี้ยงง่าย ใช้อุปกรณ์ในการเลี้ยงไม่มาก เหมาะกับเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง เพราะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ก็สามารถจับไปจำหน่ายได้แล้ว และใช้ทำเมนูอาหารได้หลากหลายเมนู ทำให้ผู้บริโภคไม่เบื่อง่ายนั่นเอง 

 

 

Tags: , ,

อื่นๆ

เมนู