สวัสดีครับ…วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปที่บ้านหนองทัพค่าค่าย ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ วันนี้เราได้มีกิจกรรม “การทำปุ๋ยหมัก” ซึ่งจัดโดยอาจารย์ประจำหลักสูตร และผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการพื้นที่ตำบลทุ่งวัง ซึ่งผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้ให้ความสนใจมาเข้าร่วมกิจกรรม
ต้องยอมรับเลยว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมและเป็นอาชีพหลักของคนไทยส่วนใหญ่ มีการใช้ที่ดิน ในการปลูกข้าว พืชไร่ พืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ยืนต้น จากอดีตการทำเกษตรเป็นการทำเพื่อเลี้ยงชีพ มีการพึ่งพาธรรมชาติ ใช้มูลสัตว์จากโค-กระบือ ในการบำรุงดิน แต่ในปัจจุบันการทำการเกษตรเน้นเรื่องของการค้าการส่งออก การทำให้มีรายได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จากดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ มีความร่วนซุย และเต็มไปด้วยแร่ธาตุ สารอาหารที่สำคัญต่อพืชก็ได้ถูกทำลายลง เกษตรกรมีปัญหาเรื่องของสุขภาพ และที่สำคัญยังส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคการเกษตรเพิ่มมากยิ่งขึ้น
จากสภาพปัญหาดังกล่าวพวกเราจึงได้พาชาวบ้านทำปุ๋ยหมักจากวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อเป็นการลดต้นทุนภาคการเกษตร บำรุงดินให้กลับมาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังช่วยลดปัญหาขยะในครัวเรือนอีกด้วย มีปุ๋ยหมักอะไรบ้างเราไปดูด้วยกันเลย
การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย คือการนำหน่อกล้วยมาหมักให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการเกษตร เพราะในดินที่มีต้นกล้วยขึ้นจะเป็นดินที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืช ทั้งยังสามารถนำจุลินทรีย์มาปรับสภาพดินให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช จะเห็นได้ว่าที่ใดมีต้นกล้วยขึ้น ดินบริเวณนั้นจะร่วนซุย โปร่ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ จึงเป็นเหตุผลที่เราทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยซึ่งเป็นจุลินทรีย์ดีเติมกลับลงไปในดินที่เราจะปลูกพืช
การทำปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้ง คือ การนำใบไม้แห้งมาหมักให้ย่อยสลาย ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายอย่างหนึ่งในทุก ๆ ครัวเรือนมีต้นไม้ เมื่อใบไม้ร่วงทุกคนต่างก็เผา เพื่อเป็นการลดมลพิษทางอากาศเราจึงพาชาวบ้านนำใบไม้ ที่มีอยู่มาหมักให้ย่อยสลาย เพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดิน โดยการนำใบไม้ มูลวัว กากน้ำตาล จุลินทรีย์หน่อกล้วยมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
จากการที่ได้ลงมือปฏิบัติ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยหมัก การทำจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการใช้สารเคมี เพิ่มแร่ธาตุและบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม