“หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ”

พรรณราย ติดใจดี

             เดือนนี้เราจะมาพูดถึงประวัติหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอดีกว่าครับ ท่ามกลางตอไม้นับแสน ๆ ตอมีการค้นพบพระพุทธรูปสูงใหญ่ปางมารวิชัย  สมัยขอมเรืองอำนาจ ราวพุทธศตวรรษที่ 17ทำด้วยหินทรายสีคล้ายดินลูกรังแดงอมส้ม  หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 2.10 เมตร นั่งประทับบนหินทรายที่นำมาเรียงกันเป็นแท่นหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก  ด้านหลังองค์พระพุทธรูปพิงกับต้นมะค่าแต้ซึ่งเคยเกิดไฟไหม้แต่องค์พระพุทธรูปมิได้รับความเสียหายแต่ประการใด จึงที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไปตั้งชื่อตามลักษณะที่พบพระพุทธรูปว่า “  หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ ”  

             หลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นโบราณวัตถุอันเป็นที่เคารพ   สักการะคู่บ้านทุ่งวังมาตั้งแต่อดีต  สันนิษฐานว่าประมาณปี พ.ศ.  2433  ชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างที่บังแดดบังฝนขึ้นครอบองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอเป็นครั้งแรก  ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพระพุทธรูปมิได้เคลื่อนย้ายไปที่แห่งใดเลยแม้ว่าจะมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ตามแปลนกรมศิลปากร ( หลักฐานสมุดบันทึกของอธิการพุฒกิตติปัญโญ  เจ้าอาวาสวัดโนนสูงทุ่งสว่าง) หลวงพ่อใหญ่ดงแสนเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระพุทธรูปบ้านวังปลัด อำเภอพุทไธสง  จังหวัดบุรีรัมย์  ท่านใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอสตึก หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  จะต้องหาโอกาสมานมัสการทุกครั้งเมื่อได้เข้ารับดำรงตำแหน่ง      

              ปัจจุบันผู้ที่สักการะเคารพบูชาเหรียญของหลวงพ่อใหญ่ดงแสนตอ  รุ่นที่ 1  (สร้างเมื่อ พ.ศ.  2515)  เชื่อว่าสามารถคุ้มครองอุบัติเหตุทางบกหรือบุคคลใดที่เข้าไปถ่ายรูปหลวงพ่อใหญ่แสนตอภายในโบสถ์  หากไม่ได้จุดธูปเทียนบอกกล่าวให้ท่านทราบก่อนมักจะถ่ายรูปองค์พระพุทธรูปไม่ติดฟิล์มจะมีสีดำมัว ๆ ปัจจุบันมีการจัดงานฉลองสมโภชน์ในเดือนเมษายน ทุก ๆ ปี

 

                                                                                             

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู