อรติญา ชิณเทศ
โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ ได้ทำการลงพื้นที่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเปิดต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ครัวเรือนต้นแบบของคุณลุง บุญทัศน์ กะรัมย์ ต.สนวน อ. ห้วยราช จ. บุรีรัมย์ น้อมนำศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่ใช้บริหารจัดการพื้นที่แปลงเกษตรจากทำนาปลูกข้าวอย่างเดียว ปรับเปลี่ยนปลูกพืชผสมผสานทั้งนาข้าว พืชอายุสั้น ไม้ยืนต้น ขุดบ่อเลี้ยงปลา กบ และทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองครบวงจร ให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
โดยทางกลุ่ม U2T ได้เล็งเห็นประโยนช์มากมายจากตรงนี้จึงจัดกิจกรรม ให้ชาวบ้านอำเภอห้วยราช ที่สนใจในการเกษตรได้เข้าร่วมเพื่อรับความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำโคกหนองนาโมเดลและประโยชน์ โดยในวันนั้นคุณลุงได้ให้โจทย์ออกแบบทำโคกหนองนาโมเดลในฝันของตนเอง
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร โดยมุ่งหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชุมชน ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 กล่าวคือ 30% แรกสำหรับแหล่งน้ำ ทั้งการขุดบ่อทำหนองและการขุดคลองไส้ไก่ที่ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ อีก 30 % สำหรับปลูกข้าว และอีก 30% สำหรับไว้ทำโคกหรือป่า โดยปลูกผักไว้เป็นอาหาร ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกยาสมุนไพร ส่วน 10% ที่เหลือ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากลงมือทำลักษณะเช่นนี้ในหลาย ๆ จุดของประเทศ โคก หนอง นา โมเดล ก็จะช่วยได้มากกว่าการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร เพราะจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นาก็จะสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการลดรายจ่าย สามารถเก็บพืชผักมาบริโภคในครัวเรือน เหลือสามารถนำไปขายสร้างรายได้ ถือเป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืนทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดการอพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกพื้นที่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ได้มีการสอนทำ ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ปุ๋ยหมักจุลีนทรีย์ชีวภาพ และปุ๋ยหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง โดยให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมทำกิจกรรมด้วย
นอกจากนี้ได้มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ต้องขอขอบคุณ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตําบลแบบบูรณาการ คณะอาจารย์ สมาชิก U2T และชาวบ้านอำเเภอห้วยราช ที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมนี้ออกมาให้สมบูรณ์
สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ