การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการแสดงทางวัฒนธรรม เพื่อรองรับการท่องเที่ยว” ณ บ้านสนวนนอก ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์
การจัดโครงการครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ที่ได้รับเชิญมา อาจารย์จิรวดี โยยรัมย์ อาจารย์กิตติศักดิ์ นามวิชา อาจารย์อุกฤษฏ์ นาจำปา และอาจารย์จินดาพร สืบขำเพชร มาร่วมถ่ายทอด อบรมให้ความรู้แก่ทีมรำทั้ง 2 ทีม และสามารถนำไปพัฒนาได้ต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะแก่การรักษาไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป
กลุ่มแรกที่ทำการแสดง หมู่ที่ 2 บ้านสนวนนอก จะทำการแสดง 2 ชุดคือ รำตรด และรำบาสโลบ
รำตรดซึ่งเป็นการแสดงพื้นเมืองเดิมเป็นการละเล่นของชาวเขมร(กัมพูชา) เป็นการเชิญชวนให้ผู้คนทำบุญโดยจะมีการรำและร้อง มีอุปกรณ์ประกอบการเล่นการร้องเล่นจะทั้งจังหวะเร็วและจังหวะช้าและรำบาสโลบชาวบ้านก็รำได้สวยงามและอ่อนช้อย
กลุ่มที่ 2 จะเป็นการแสดงจากหมู่ 3 บ้านสนวนใน จะทำการแสดงทั้ง 2 ชุดด้วยกัน คือ รำกะลา(เรือมตะล๊อก)และรำกันตรึม
เรือมตล็อก”หรือว่ารำกะลา การแสดงชุดนี้สอดคล้องกันระหว่างของไทยเราทางภาคอีสานตอนใต้ แถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษฯ กับ นาฏศิลป์พื้นเมืองเขมร ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากแทบจะเป็นชุดเดียวกันก็ว่าได้ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน หรือเกิดจากวัฒนธรรมเลื่อนไหล การร่ายรำระหว่างหญิงและชาย เรือมตล็อกหรือรำกะลานี้ มีเคล็ดอยู่ว่าคู่ใดสามารถเคาะกะลามะพร้าวแตก ก็คาดว่าคู่นั้นจะได้แต่งงานกัน บรรเลงด้วยวงกันตรึม ซึ่งเป็นวงมโหรีพื้นเมืองอีสานใต้ และการแสดงกันตรึมนี้จะมีการแพร่หลายในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานนีบางส่วน เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในความรักความสามัคคีที่สืบทอดมาอย่างมั่นคงยั่งยืนตลอดไปอีกนาน ที่เยาวชนรุ่นหลังมีความชื่นชอบในจังหวะการแสดงที่มีหลายรูปแบบ ทั้งช้า ปานกลาง และแบบเร็ว สนุกสนาน แม้แต่คนที่ฟังภาษาเขมรไม่รู้เรื่อง เมื่อได้ฟังก็มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน การแสดงกันตรึมนั้นฟังได้ทุกชาติทุกภาษา
หลังจากทั้งสองกลุ่มทำการแสดงเสร็จ ท่านอาจารย์ก็ได้อบรม ถ่ายทอดเทคนิควิธี ให้ความรู้ บอกกล่าว เพื่อให้ชาวบ้านนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป และขอให้อนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมดี ๆแบบนี้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป