มหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์

จิราภา กัณหา

ประเพณีมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ปกติจะจัดขึ้นช่วง : วันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ธันวาคมช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรง คนชนบทก็พากันทำว่าวแอก ซึ่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เล่นกันทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นของชาวอีสานนานมาแล้ว  “มหกรรมว่าวอีสาน” เป็นการเปิดให้ชมขบวนแห่มหกรรมว่าวอีสาน การแข่งขันวิ่งว่าวทุกประเภท ประกวดธิดาว่าว พิธีทำขวัญข้าว จำลองวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิม นอนดูดาว ชมว่าว ฟังเสียงว่าวแอกกลางคืน เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด หลายหมู่บ้านชุมชนเริ่มประดิษฐ์ว่าวเตรียมเข้าร่วมแข่งขันคึกคัก

บุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2529 เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันเพื่อชิงรางวัลกัน ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง 2 เมตร ครึ่งขึ้นไป ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอกและลีลาของว่าวบนท้องฟ้า นอกจากนี้ มีการประกวดขบวนแห่ว่าวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตอนค่ำมีมหรสพ การละเล่นและการแสดงสินค้าพื้นบ้าน งานมหกรรมว่าวอีสานจัดขึ้นที่บริเวณสนามแข่งว่าว ข้างมหาวิทยาลัยรามคำแหงบุรีรัมย์ อ.ห้วยราช เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในเขตพื้นที่จังหวัดเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังจะได้ชม หมู่บ้านว่าวของชุมชนในพื้นที่ และการออกร้าน OTOP สุดยอดผลิตภัณฑ์“หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ต่างๆ มากมาย ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ก็ได้เริ่มประดิษฐ์ว่าวเตรียมเข้าร่วมแข่งขันภายในงานดังกล่าวคึกคักแล้ว ขณะที่สภาพอากาศหนาวเย็นลงต่อเนื่อง อุณหภูมิลดลงอยู่ที่ 18-19 องศาเซลเซียส

สำหรับการเล่นว่าวของคนอีสานส่วนมากจะแฝงไว้กับจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะเรื่องการบวงสรวง หรือเสี่ยงทาย ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเชื่อว่าหากปีใดว่าวขึ้นสูงติดลมบนตลอดทั้งคืนจะพยากรณ์ว่าปีหน้าฟ้าฝนดี ข้าวปลาอาหาร สมบูรณ์ ส่วนชาวท้องถิ่นไทยเขมร เชื่อกันว่าการชักว่าวขึ้นให้ติดลมบน และเสียงของแอกที่ดังโหยหวนเป็นการสร้างกรรม เมื่อเลิกเล่นจึงนิยมตัดว่าวทิ้ง ถือว่าเป็นการตัดเวรตัดกรรมออกไปและสะเดาะเคราะห์ โดยจะผูกข้าวปลาอาหารให้ล่องลอยไปกับตัวว่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของไทยเชื้อเขมรไว้ให้อยู่ มิให้สูญหายไปจากคนรุ่นใหม่ เราทุกคนควรช่วยกันรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามสิ่งนี้ไว้เพื่อประจักษ์แก่คนรุ่นต่อไป

 

อื่นๆ

เมนู