“กฐิน” สามัคคี

          เจษฎา  ลิ้นทอง

              “กฐิน” เป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ “กรอบไม้” หรือ “ไม้แบบ” สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ หรือแปลตามศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท ใช้เรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้  ถือเป็นมหากุศลและบุญประเพณีนิยมที่พุทธศาสนิกชนชาวพุทธให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับชาวตำบลโคกเหล็ก บ้านโคกเหล็ก โคกอรุณ และหมู่บ้านใกล้เคียงที่ได้มีการกำหนดจัดงานกฐินสามัคคีขึ้นในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2564 ทอดถวาย ณ วัดบ้านโคกเหล็ก

กฐินถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีองค์ประกอบมากมาย ต้องใช้เวลาในการตระเตรียมมาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายส่วน และจัดเป็นกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 มีผ้าไตรจีวร เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญ เมื่อใกล้ช่วงออกพรรษาชาวบ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็จะร่วมกันถักทอผ้าผืน นำไปให้ช่างตัดเย็บ และนำมาย้อมสี เพื่อเตรียมถวายเป็นผ้ากฐิน โดยได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์จากประธานผู้ที่จองเป็นเจ้าภาพผ้ากฐิน และยังต้องตระเตรียมเครื่องอัฐบริขาร บริวารกฐิน มากมาย เช่น บาตรพระ ตาลปัตรที่ระลึก ถุงย่ามที่ระลึก ชุดเครื่องนอนพระสงฆ์ ชุดเครืองครัวที่จำเป็น ชุดเครื่องใช้ของพระสงฆ์ และชุดของใช้ภายในวัดที่จำเป็น ธงกฐินต่างๆ ซึ่งถ้าหากเป็นกฐินสามัคคี ชาวบ้านก็จะร่วมจับจองกันเป็นเจ้าภาพคนชิ้น คนละอย่าง ก็ครบจำนวน อีกทั้งการเตรียมสถานที่เพื่อสมโภชน์กฐิน ก็จะมีกระจัดตกแต่ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย มะพร้าว ธงกฐิน ธงสีต่างๆ มีการกั้นราชวัตรกำหนดเขตมณฑลพิธี มีโต๊ะกฐินจัดตกแต่งสวยงามตามสมัยนิยม มีต้นกฐินให้ชาวบ้านได้นำปัจจัยมาร่วมทำบุญ เมื่อเย็นค่ำก็จะนิมนต์พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน์ และมีการแสดงธรรมเทศนาธรรมเทศนาอานิสงส์กฐิน ชาวบ้านโคกเหล็กก็ต่างพร้อมใจร่วมกันบุญมหากุลในครั้งนี้ ภายใต้การป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 เวลาเช้า ได้มีการตั้งขบวนแห่กฐินเวียนรอบพระอุโบสถ โดยมีวงปี่พาทย์พื้นบ้านบรรเลงเพลง สร้างจังหวะให้ได้สนุกสนาน ชาวบ้านโคกเหล็กร่วมกันนุ่งห่มผ้าไหมพื้นบ้าน เข้าร่วมขบวนกันอย่างงดงาม และร่วมกันประกอบพิธีทอดกฐิน ซึ่งทีมผู้ปฏิบัติงานก็ได้มีการจัดโรงทานให้บริการน้ำดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย และสเปรย์แอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มาร่วมงาน จากความในข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องชาวตำบลโคกเหล็กที่มีต่อพระพุทธศาสนา นับเป็นมหากุศลเป็นกาลทานที่ยิ่งใหญ่ที่หนึ่งปีจะได้มาร่วมบุญ ร่วมกัน อนุโมทานา สาธุ

อื่นๆ

เมนู