ลมหนาวมาแล้ว…วิ่งว่าวกันไหม?
ศศกรณ์ หอมเนียม
“ว่าว” เป็นการละเล่นของไทยที่มีมาแต่ช้านาน โดยการเล่นต้องหาโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งโอกาสที่เหมาะสมในที่นี้ก็ คือ การหาช่วงเวลาที่มีอากาศดีลมพัดอย่างสม่ำเสมอไม่แรงจนเกินไป และควรจะเป็นสถานที่กว้างพอที่จะทำให้ว่าวลอยได้อย่างอิสระสวยงาม การเล่นว่าวใช้อุปกรณ์ในการเล่นที่ไม่ยุ่งยากเพราะส่วนประกอบหลักหาได้ง่าย ผู้คนส่วนใหญ่นิยมเล่นเพื่อความสนุกสนานหรืออาจมีการแข่งขันกัน
ในปัจจุบัน เมื่อลมหนาวมาเยือน ชาวบ้านในตำบลโคกเหล็กมีการเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้ทุ่งนานั้นค่อนข้างโล่งกว้าง มีอากาศดีลมพัดเย็นสบาย ชาวบ้านจะประดิษฐ์ว่าวให้ลูกหลานในพื้นที่ไว้วิ่งเล่นกัน หรือเด็กวัยรุ่นจะนิยมประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยว่าวที่ทำนั้นจะเป็นว่าวแอก โดยอุปกรณ์สามารถหาได้ในท้องถิ่น โครงว่าวจะทำจากไม้ไผ่ นำไม้ไผ่มาเหลาและดัดเป็นโครงขนาดตามที่ต้องการ ไม่ควรทำให้มีน้ำหนักมาก เพราะอาจทำให้ว่าวไม่ขึ้น จากนั้นนำกระดาษหรือผ้ามาติดกาวเข้ากับตัวโครงว่าว เพื่อความแข็งแรงจะต้องติดกาวให้แน่น สามารถวาดรูปและตกแต่งลวดลายให้สวยงาม นำใบตาลหรือใบลานมาทำเป็นหางว่าว ถ้าหากหาไม่ได้สามารถใช้ผ้าแทนได้ ส่วนแอกนั้นทำจากหวายและใบตาลหรือใบลาน นำแอกมาติดไว้กับส่วนหัวของตัวว่าว ต่อมานำเชือกมาผูกไว้กับว่าวให้แน่น เมื่อเสร็จแล้วให้ลองนำว่าวมาวิ่งดู ถ้าไม่หักหรือชำรุด ก็ใช้ได้แล้ว เมื่อว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าและติดลมจะล่องลอยเล่นลมอย่างสวยงาม จะมีเสียงแอกดังขึ้นอย่างไพเราะ ถึงแม้ว่างานมหกรรมว่าวอีสานของอำเภอห้วยราชปีนี้จะไม่ได้จัดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ไม่เช่นนั้นคงได้เห็นว่าวแอกของแต่ละชุมชนได้แข่งขันประชันกัน แต่ถึงยังไงก็ตามการเล่นว่าวของผู้คนนั้นยังคงมีอยู่ตามชุมชน เด็กๆวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน และทำให้เกิดความสามัคคีกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
“ว่าว” ถือได้ว่าเป็นผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยในแต่ละท้องถิ่นมาแต่โบราณ ที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวมาประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นของเล่นให้แก่ลูกหลานในช่วงฤดูหนาว ใช้เล่นกันในเวลาว่าง ร่วมกันแก้ไขปัญหา มีความสามัคคีกัน จึงนับเป็นมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษของเราได้คิดค้นและถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน