วันออกพรรษา

วรรณิพา จริตรัมย์

          “วันออกพรรษา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า อนุญาตหรือยอมให้  ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือน

วันออกพรรษา หรือ วันมหาปวารณา ถือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากการจำพรรษาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ในทุกระดับชั้นที่ได้จำพรรษาร่วมกันมาตลอด 3 เดือนสามารถว่ากล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องของกันและกันได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี และความเสมอภาค หลังจากการทำพิธีออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์สามารถทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ตามปกติ และสามารถค้างแรมในสถานที่ต่างๆ ที่ไปแสดงเทศนาได้ โดยที่ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติใดๆ และที่สำคัญชุมชนบางชุมชนจะมาประเพณีกวนข้าวทิพย์ในวันออกพรรษาและชุมชนของข้าพเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีการจัดประเพณีกวนข้าวทิพย์ขึ้นในทุกๆปี ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันในการสรรหาวัตถุดิบ ส่วนผสมหลายๆอย่าง เพื่อประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ ได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาลกรวด ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่างๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา เผือก มัน มะพร้าวแก่ ผลไม้สด เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวน และรุ่งเช้าจะเป็นการทำบุญตักบาตรเทโว หรือตักบาตรเทโวโรหณะ โดยประเพณีที่ปฏิบัติกันนั้นคือการนำข้าวสาร อาหารแห้ง มาใส่บาตร สืบเนืองมาจากการเสด็จกลับจากการจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่าการออกมาตักบาตรในวันออกพรรษานั้นเสมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงเป็นเหตุทำให้มีการตักบาตรกันอย่างเนืองแน่นในวันออกพรรษา

วันออกพรรษามีความสำคัญต่อพวกเราชาวพุทธเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา เห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม รู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง

อื่นๆ

เมนู