“อันซอมโดง” ไปวัดช่วงวันเข้าพรรษา
ศศกรณ์ หอมเนียม
“อันซอมโดง” หรือ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว เป็นขนมโบราณของพื้นเมืองเขมรถิ่นไทยหรือคนไทยเชื้อสายเขมรในแถบจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ รู้จักกันเป็นอย่างดีและนิยมทำเป็นอย่างมาก โดยมักจะทำกันเยอะในช่วงงานเทศกาลงานประเพณี อย่างวันเข้าพรรษา งานบวช งานแต่ง แซนโฎนตา เป็นต้น หรือทำกินในครอบครัวก็ได้ จัดว่าเป็นขนมมงคลชนิดหนึ่งเลยทีเดียว
ในช่วงวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้ลองทำและลองหัดห่อข้าวต้มมัดใบมะพร้าวเป็นครั้งแรก โดยมีคุณป้าคอยสอนวิธีการทำและการห่อให้ ซึ่งการทำเริ่มจากการนำข้าวเหนียวแช่น้ำไว้ 1 ชั่วโมง นำกะทิใส่กระทะ ใช้ไฟอ่อน จนกะทิแตกมัน เติมเกลือลงไปเล็กน้อย เติมน้ำตาลลงไป ใส่ความหวานตามความชอบ ผัดให้เข้ากันจนกว่าน้ำตาลละลายหมด นำข้าวเหนียวที่แช่ไว้ลงผัดผสมให้เข้ากันดี จากนั้นก็นำถั่วดำที่ต้มแล้วผสมลงไปอีกครั้ง ตักขึ้นใส่หม้อพักไว้ให้เย็นลง นำกล้วยมาหั่นไว้ตามยาว จากนั้นก็เริ่มห่อด้วยใบมะพร้าว ซึ่งการห่อครั้งแรกนั้นจะลำบากนิดหน่อยเพราะความลื่นของใบมะพร้าวนั่นเอง นำข้าวเหนียวที่พักไว้ตักใส่ห่อใบมะพร้าว นำกล้วยมาเรียงใส่ และตักข้าวเหนียวใส่ปิดทับอีกชั้นหนึ่ง ห่อให้เรียบร้อย โดยนำเชือกที่เตรียมไว้มามัดให้แน่น เมื่อห่อเสร็จแล้วนำไปนึ่งให้สุก จะใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 50 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ถ้าหากครบกำหนดแล้วข้าวต้มมัดยังไม่สุกดีให้นึ่งต่อไปอีก 10-15 นาที ก็จะได้“อันซอมโดง”หรือข้าวต้มมัดใบมะพร้าวที่หอมและอร่อยพร้อมรับประทาน การห่อข้าวต้มมัดจะห่อก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน เพราะมีหลายขั้นตอนในการทำ และนำไปวัดเพื่อทำบุญในวันเข้าพรรษา เนื่องจากเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน
“อันซอมโดง”หรือข้าวต้มมัดใบมะพร้าว ไม่นิยมหาซื้อในตลาด นิยมทำกันเองภายในครอบครัว เพราะได้พบปะพูดคุยกัน สอนลูกสอนหลานให้ทำและห่อเป็น ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างความอบอุ่นในครอบครัวอีกด้วย และเป็นการรักษาประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานให้สืบทอดสู่รุ่นต่อไป รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นหลังเข้าวัดทำบุญด้วยนั่นเอง