สองประโยชน์หนึ่งโครงการ

สนธยา จะรอดรัมย์

          หลังจากประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสัมภาษณ์ระบบออนไลน์นั้น ตัวผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ) ขอขอบคุณโอกาสที่มอบให้เพื่อที่จะได้นำความรู้และความสามารถที่ศึกษาเล่าเรียนมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

          ก่อนหน้านี้ ผมได้สร้างรายได้พิเศษจากการประกอบธุรกิจขนาดย่อย นั่นคือ “เจกสง๊วด” ในภาษาเขมร ส่วนภาษาไทยนั้นเรียกว่า “กล้วยตาก” คำว่า “เจก” แปลว่า กล้วย ส่วนคำว่า “สง๊วด” แปลว่า แห้ง ซึ่งทุกคนต้องสงสัยแน่นอนว่าทำไมศัพท์ในภาษาไทยจึงเรียกว่า “กล้วยตาก” ทำไมไม่เรียก “กล้วยแห้ง” และแน่นอนครับ การถนอมอาหารจากวัตถุดิบที่เรียกว่า “กล้วย” นั้น เราได้นำกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลโดยผ่านการตากจากแสงและความร้อนของดวงอาทิตย์ จนกระทั่งกล้วยแห้งหอมน่ารับประทานและเก็บไว้ได้ยาวนาน และที่สำคัญได้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่าการทานกล้วยแบบสดๆ อีกด้วย ส่วนมากตัวผมจะเน้นการขายผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด ถือเป็นการนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าที่มากยิ่งขึ้น และทำให้คนต่างถิ่นได้รู้จักกับชุมชนของเราผ่านสินค้าที่เราได้นำเสนอออกไป

          การทำงานครั้งแรกของผมนั้น ก็เริ่มต้นด้วยการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่น ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ที่หลากหลายในโครงการเดียว นั่นหมายถึง ได้ทั้งประสบการณ์การทำงานในเรื่องต่างๆ เช่น การประสานงาน การติดต่อสื่อสาร การทำงานกลุ่ม เป็นต้น และได้รับความรู้จากวิทยากร ซึ่งไม่มากก็น้อยเพื่อที่จะนำไปพัฒนาธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู