สืบสานวัฒนธรรมความเชื่อ
สนธยา จะรอดรัมย์
ความเชื่อเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งในปัจจุบัน ทุกๆ สังคมล้วนมีความเชื่อเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ได้รับการพัฒนาแล้วหรือยังไม่ได้รับการพัฒนา สังคมที่มีตัวอักษรหรือไม่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง สังคมล่าสัตว์ สังคมเกษตรกรรม หรือแม้แต่สังคมอุตสาหกรรมก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อ” เพราะมนุษย์เราไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใด ระดับใด ย่อมต้องเผชิญกับความไม่สบายใจ ภาวะที่จิตใจไม่มั่นคงต้องหาทางแก้ไข หรือบำบัดรักษา ซึ่งวิธีการของแต่ละคน แต่ละสังคม แต่ละชนเผ่า แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน และประเภทของความเชื่อแต่ละสังคมก็อาจแตกต่างกันไป กลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมร ตำบลโคกเหล็กก็เช่นกัน
ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีแต่ละท้องถิ่น แต่ละวัฒนธรรมจะมีประเพณีที่แตกต่างกันไป และแต่ละท้องถิ่นมีทรัพยากรไม่เหมือนกัน ทำให้การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประเพณีวันสารทของคนวัฒนธรรมเขมร คือ “วันสารทเขมร” หรือที่เรียกกันว่า “ประเพณีแซนโฎนตา” (បុណ្យសែនដូនតា) ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งชาวเขมรรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างยิ่ง
ชาวไทยเชื้อสายเขมรมีความเชื่อว่า “วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้ที่รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติ” ชาวไทยเชื้อสายเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ที่ได้จัดเตรียมไว้ไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเรียกว่า “ไถงเบ็ณฑ์ตู๊จ หรือ วันสารทเล็ก” (ថ្ងៃបិណ្ឌតូច) และยังเชื่อว่า “ประตูยมโลกจะเปิดเป็นเวลา ๑๕ วัน เริ่มนับตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ไปจนถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี เรียกว่า “ไถงเบ็ณฑ์ธม หรือ วันสารทใหญ่” (ថ្ងៃបិណ្ឌធំ) ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา
วันแซนโฎนตา หรือ ไถงแซนโฎนตา (ថ្ងៃសែនដូនតា) ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ ตรงกับวันที่ ๕ ตุลาคม คำว่า “ไถง” (ថ្ងៃ) หมายถึง วัน คำว่า “แซน” (សែន) หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า “โฎน” (ដូន) หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า “ตา” (តា) หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร ในช่วงเวลานี้ลูกหลานชาวเขมรที่ไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หรือระลึกถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ ลูกหลานหรือญาติที่มีเชื้อสายเลือดเนื้อเดียวกัน ต่างกันนำอาหารคาว หวาน ขนม นมเนย น้ำดื่ม รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อมาเซ่นไหว้ บวงสรวงให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมเซ่นไหว้ในเวลาตอนเย็นและเซ่นไหว้เป็นเวลาอีกรอบในตอนเช้า และนำไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับต่อไป
ระบบความเชื่อของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องวิญญาณผีบรรพบุรุษ หรือความเชื่อในเรื่องผีสาง เทวดา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นความเชื่อที่เกิดมาจากปรากฏการณ์จากธรรมชาติ ที่ส่งผลให้ความเชื่อเหล่านั้นเกิดขึ้นและมาพร้อมกับความสบายใจของทุกๆ คน เพราะได้รับการดลบันดาลจากสิ่งที่พวกเราชาวไทยเชื้อสายเขมรได้ปฏิบัติและนับถือสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมตัวอย่างดังกล่าวเป็นต้นมา