ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ขนมในตำนานคู่ถิ่น “อันซอม กะบ็อง”

เจษฎา  ลิ้นทอง

          ขนมพื้นบ้านที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเราชาวจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นขนมที่มีลักษณะ รสชาติ และกรรมวิธีในการทำที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำส่วนผสมของขนม เรียกขนมชนิดนี้ว่า “อันซอม กะบ็อง” หรือ ข้าวต้มด่าง

“อันซอม กะบ็อง” หรือ ข้าวต้มด่าง เป็นขนมพื้นบ้านที่มีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยม มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ”ด่าง” ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีภูมิปัญญาการทำด่างแตกต่างกันออกไป โดยในบ้านโคกเหล็ก ตำบลโคกเหล็กนิยมนำผลนุ่นสุกสีน้ำตาล แกะเอาแต่เปลือกนำไปเผาให้ค่อยๆ ไหม้จนไฟมอดสนิท  จากนั้นนำไปผสมน้ำแล้วกรองบรรจุใส่ขวดรอให้ตกตะกอน จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ ซึ่งการทำข้าวต้มด่างนี้เริ่มจาก นำข้าวเหนียวที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว 1 คืน คลุกกับน้ำด่าง น้ำกะทิ และใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ห่อด้วยใบตองเป็นทรงสามเหลี่ยม ผูกด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟาง แล้วจับมัดรวมเป็นพวง นิยมมัดรวมกันเป็นเลขคู่ แล้วนำไปต้มให้สุก โดยการมัดข้าวต้มด่างเป็นพวงนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดความรักสามามัคคีปรองดองกันของครอบครัวและชุมชน นิยมทำในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น งานแต่ง  งานบวช งานทำบุญต่างๆ ไว้แจกญาติพี่น้องที่มาร่วมงาน และที่สำคัญข้าวต้มด่าง ก็ยังเป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อชาวไทยเชื้อสายเขมรและในตำบลโคกเหล็ก ถือเป็นขนมมงคลที่ถูกจัดไว้ในงานแต่ง ขนมโบราณที่ไว้เซ่นไหว้บรรพบุรุษในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

ซึ่งการทำ“อันซอม กะบ็อง” หรือ ข้าวต้มด่าง ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย อันเนื่องจากด่างที่เราผสมไปก็จะไปช่วยในการปรับสมดุลของสารอาหารในร่างกายให้เหมาะสม นับเป็นความคิดที่ชาญฉลาดของคนในสมัยก่อน และการทำข้าวต้มด่างก็ยังเป็นตำนานเล่าสืบต่อกันถึงกรรมวิธิในการทำ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของคนในครอบครัว ในชุมชน ร่วมด้วยช่วยกันทำจึงจะสำเร็จ เนื่องจากมีกระบวนการทำที่ค่อนข้างมาก ต้องใช้ความสามารถในห่อขนม ให้ออกมาน่ารับประทาน จึงเป็นภูมิปัญญาที่น่าอนุรักษ์สืบสานในคงอยู่สืบต่อไป

   

อื่นๆ

เมนู