กับข้าวกับปลา ในยุคโควิด

เจษฎา  ลิ้นทอง

                       “กับข้าว” เป็นอาหารที่ใช้รับประทานคู่กับข้าว​  หรือที่เรียกกันคุ้นหูคือ​ “กับข้าวกับปลา”  ซึ่งก็คืออาหารที่เป็นสสาร ​เพื่อการบริโภคเสริมโภชนาการให้แก่ร่างกาย​ ทำมาจากพืชและสัตว์​ อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย​ 4​ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต​ของมนุษย์ ทุกคนต้องรับประทานอาหารเพื่อดำรงชีพ ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็มีกับข้าวหรืออาหารแตกต่างกันออกไป​ตามภูมิภาค โดยตำบลโคกเหล็ก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ ก็จะมีการทำกับข้าวกับปลา การกินอยู่ตามวิถีของชุมชนที่สนใจ

ตำบลโคกเหล็ก มีเนื้อที่ประมาณ 15,516 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร วิถีชีวิต วิถีการทำอาหาร หรือทำกับข้าวกับปลาก็สอดคล้องกับธรรมชาติ ที่อยู่ในชุมชน มีการปลูกผัก จับปลาจากห้วยหนองในชุมชนนำมาประกอบอาหารรับประทาน เมนูอาหารที่นิยมกันในท้องถิ่น โดยเฉพาะรุ่นคุณตาคุณยาย ก็คือ น้ำพริกผักต้ม  กินแทบทุกบ้าน ทานแทบทุกวัน ความวิเศษของเมนูนี้คือ น้ำพริกที่ทำจาก พริกสดริมรั้วเด็ดมาโยนใส่หมอคั่วเตาถ่านอ่อนๆ กับปลาช่อนย่างหอมๆ ปรุงรสให้ถูกใจได้เป็นน้ำพริกปลาช่อน อีกส่วนก็คือ ผัก นิยมรับประทานผักพื้นบ้านตามฤดูกาล หาได้ง่าย เป็นพืชผักริมรั้ว หรือผักที่เพาะปลูกเองก็นำมาแบ่งปันกันกิน เช่น ผักตำลึง ผักชะอม ผักปลัง ผักสะเดา แตงกวา ถั่วฝักยาว เป็นต้น ผักต่างๆ ล้วนแต่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปลอดภัย เป็นเมนูสุดพิเศษที่มีทุกบ้าน ทานทุกคน  แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้วิถีชีวิต วิถีการกินอยู่ของคนในชุมชนค่อนข้างเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าออกจากบ้าน  ไม่ค่อยได้ออกมาพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน อยู่บ้านใครบ้านมัน ตามมาตรการของรัฐ การกินอยู่ก็เริ่มมีการทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะง่ายสะดวก  แต่อย่างไรก็ตามอาหารพื้นบ้านก็ยังเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่น เพราะเอกลักษณ์ของรสชาติที่ถูกปากถูกใจ

อาหาร หรือ กับข้าว นอกจากจะเป็นสิ่งที่ทุกคนกินเพื่อยังชีพแล้ว ยังมีประโยชน์ทาโภชนาการ และสะท้อนถึงวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชน ของผู้คน ที่มีรสนิยมที่แตกต่างกันออกได้ ดั่งที่ตำบลโคกเหล็ก ก็มีวิถีชีวิตการกินอยู่คู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และในยุคของโควิด 19 คนในชุมชนก็ได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย มีการระมัดระวังตนเองกันมากขึ้น การกินอยู่ก็พอเพียง กินเท่าที่หาได้ ปลอดภัยกับตนเอง

 

อื่นๆ

เมนู