แหล่งน้ำของชุมชนกับวิถีชีวิตในฤดูกาลเพาะปลูก

เจษฎา  ลิ้นทอง

          ตำบลโคกเหล็กมีเนื้อที่ 15,516 ไร่ หรือประมาณ 24.83 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นที่ราบสูงและเป็นที่ราบบางส่วน ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย พื้นดินทรายราบโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร และใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่ง และภายในตำบลยังมีแหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่  หนองโคกเหล็กและลำห้วยราชไหลผ่าน

หนองโคกเหล็ก หรือ ชลประทานบ้านโคกเหล็ก มีพื้นที่ประมาณ 247,578.76 ตารางเมตร  จุน้ำได้ประมาณ 990,315.04 ลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในตำบลโคกเหล็ก ใช้ในการอุปโภคบริโภค ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ในบริเวณรอบๆชลประทาน ได้แก่ บ้านโคกเหล็ก บ้านโคกอรุณ บ้านถนนกระสัง เป็นต้น และตำบลโคกเหล็กมีลำห้วยที่ไหลผ่านพื้นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำการเกษตรของชาวบ้าน ได้แก่ ลำห้วยราชไหล หรือคลองราช ซึ่งเป็นคลองสายยาวที่ไหลผ่าน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอห้วยราช และอำเภอบ้านด่าน   มีปริมาณน้ำไม่คงที่ หากในช่วงฤดูฝนก็จะมีน้ำไหลผ่านคลองจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆ คลองสายนี้ได้สูบน้ำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกข้าว และในช่วงเดือน มิถุนายน ถึง กรกฏาคม เป็นช่วงฤดูฝน และเป็นของการเพาะปลูกข้าว ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าเพื่อหุงหาอาหารใส่กล่องหรือปิ่นโตเพื่อเตรียมตัวออกไป ถอนกล้า ดำนา โดยมีรถอีแต๊กบรรทุกเพื่อนบ้านไปลงช่วยกัน เมื่อถึงทุ่งนาก็เริ่มลงมือช่วยกันถอนกล้า แล้วมัดเป็นกอด้วยตอกไม้ไผ่ จากนั้นก็จะมีคนหาบกล้าที่มัดเป็นกอแล้วเดินไปบนคันนา เพื่อไปยังนาที่จะปักดำ วางกล้าแช่น้ำที่ชุ่มฉ่ำ บนพื้นดินที่เฉอะแฉะเพื่อเตรียมปักดำกล้า หลังจากที่ทุกคนถอนกล้าได้เพียงพอแล้ว  ก็จะมาช่วยกันปักดำ โดยยืนเรียงแถวหน้ากระดาน ปักกล้าลงดอนเป็นแถวดูเป็นระเบียบ เมื่อถึงเวลาพักเที่ยงก็จะมานั่งพักรับประทานอาหารร่วมกันใต้ต้นไม้ร่วมกันบรรยากาศลมพัดโชยดูแล้วมีความสุข

แหล่งน้ำของชุมชนกับวิถีชีวิตในฤดูกาลเพาะปลูกนั้นล้วนมีความสัมพันธ์กัน ชาวบ้านก็ต้องพึ่งพาน้ำในการทำการเกษตร ใช้ดื่ม ใช้เลี้ยงสัตว์ น้ำจึงเปรียบเสมือนสิ่งที่ล้ำค่าของชาวบ้าน ให้ได้ปลูกพืชเจริญงอกงาม เลี้ยงสัตว์ให้เจริญเติบโต และใช้ประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อเรามีทรัพยากรที่มีคุณค่าอยู่แล้ว เราก็ควรรู้จักใช้ทรัพยากรให้อย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด

          

อื่นๆ

เมนู