จากทองกวาว สู่บ้านจาน ชุมชนเล็กแต่มิตรล้น

 

สิริยากร แก้วพลงาม

 

                 แม้จะเป็นชุมชนชนบทขนาดเล็กดูแสนจะธรรมดา แต่ “บ้านจาน” กลับมีสิ่งน่าประทับใจเกิดคาด หลายคนอาจจะพอทราบหรือไม่ทราบ ว่าชุมชนนี้ กำเนิดมาจากการย้ายถิ่นฐานของชาวบ้านเมืองโพธิ์ที่แยกตัวออกมา ซึ่งชื่อจานนั้นที่มาจากกระจาน หมายถึงต้นทองกวาว เรียกสั้นๆจึงมีชื่อว่าบ้านจาน ชาวบ้านใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาท้องถิ่น ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ กว้างขวาง เหมาะกับการทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีการแบ่งปันทรัพยากรชุมชนเพื่อใช้สอยร่วมกัน เช่น แหล่งน้ำ ดูเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่พอรู้จักผู้คนในหมู่บ้าน กลับต้องเปลี่ยนความคิด

                 ข้าพเจ้านางสาวสิริยากร แก้วพลงามและทีมงาน ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานประจำบ้านจาน หมู่ที่ 9 ตำบลเมืองโพธิ์ อำเภอห้วยราชจังหวัดบุรีรัมย์ และได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน (01) โดยมีผู้ใหญ่บ้าน นายมาโนช ทะเริงรัมย์ และประชาชนได้ให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลอย่างเป็นกันเอง และเป็นมิตร 

 

                 จากการสำรวจพบว่า บ้านจานเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีประชากรทั้งหมดประมาณ 82 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ และรับจ้างก่อสร้างเป็นอาชีพเสริม มีโรงสีและสวนเพาะกล้าไม้ชุมชน ไม่มีปัญหาสภาพแวดล้อม สังคมมีความสงบ ไม่มีมลพิษ หรือเสียงดังรบกวน ทำให้ขณะที่ข้าพเจ้าสัมภาษณ์ชาวบ้านอยู่นั้น สัมผัสได้ถึงความเป็นกันเอง รอยยิ้ม ความกระตือรือร้นในการให้ข้อมูล แม้ในบางส่วนจะค่อนข้างต้องคิดวิเคราะห์แต่ชาวบ้านก็ตั้งใจตอบคำถาม และช่วยกันตอบคำถามอย่างน่ารัก แม้หลายบ้านจะมีปัญหาด้านหนี้สิน แต่ก็พูดจาติดตลกอย่างอารมณ์ดี ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ข้าพเจ้าประทับใจไม่ลืม

   

   

                 และด้วยเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าตื่นเต้นที่จะได้นำข้อมูลและปัญหาดังกล่าวนี้ส่งต่อส่วนกลาง เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงสถิติและเขียนเรียบเรียงในงานวิชาการ และประเมินวิธีการเข้าช่วยเหลือหรือส่งเสริมเพื่อแก้ปัญหาพัฒนาชุมชนที่เปี่ยมมิตรนี้ เพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้ยิ้มได้และมีชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

 

 

 

 

 

Tags: , ,

อื่นๆ

เมนู