ฤดูดำนา

จิราภา กัณหา

               นาข้าวที่ทำในระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูการทำนาปรกติ พันธุ์ข้าวนาปีจะออกดอกตามวันและเดือนที่ค่อนข้างตายตัว ไม่ว่าจะตกกล้าในเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม หรือสิงหาคม เมื่อถึงวันที่จะออกดอกก็ออกพร้อมกันหมด เนื่องจากช่วงของแสงต่อวันบังคับ ตามปรกติจะแบ่งวันหนึ่งออกเป็น กลางวัน ๑๒ ชั่วโมง  กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง แต่เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้แต่ละส่วนของ โลกได้รับแสงอาทิตย์ในแต่ละวันไม่เท่ากัน  ทำให้เมื่อช่วงของวันยาวขึ้นข้าวก็จะเจริญเติบโตทางลำต้น ไม่ออกรวง หรือถ้าออกรวงได้ก็ไม่พร้อมกันในต้นเดียว บางรวงก็แก่โน้มลง บางรวงก็เพิ่งตั้งท้อง  จนเมื่อช่วงของวันเริ่มสั้นลง ข้าวพวกนี้จะเจริญทางพันธุ์ (ออกรวง) ดังนั้น การทำนาล่า เช่น ปักดำในเดือนตุลาคม ต้นข้าวจะเตี้ย แตกกอน้อย รวงเล็ก เพราะยังไม่ทันเจริญทางลำต้นก็ต้องมาเจริญทางพันธุ์ นั่นคือ วันสั้นยาวมีผลต่อการออกรวงของข้าว  ข้าวประเภทนี้จึงเรียกว่า “ข้าวนาปี” หรือ “ข้าวไวแสง” ซึ่งเป็นข้าวที่ออกตามฤดูกาล

เกษตรกรจะหว่านข้าวไว้ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อรอฝนช่วงแรกที่โดยปกติมาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่ฝนจะตกชุกช่วงหลังในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม การหว่านข้าวทิ้งไว้จะทำให้ข้าวที่คราดกลบไม่ทั่วถึงเสียหายจากการทำลายของนกและหนู ข้าวบางส่วนอาจจะงอกและแห้งตายในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ข้าวในแปลงขึ้นไม่สม่ำเสมอ มีจำนวนต้นข้าวน้อยเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวนาหว่านมีผลผลิตต่ำกว่าข้าวที่ปลูกโดยวิธีอื่น วิธีการหว่านด้วยมือที่เกษตรกรใช้ หากขาดความชำนาญก็จะหว่านไม่สม่ำเสมอ ต้องใช้เวลาในการหว่านซ้ำเพื่อให้เมล็ดกระจายทั่วถึงหรือในเกษตรกรบางรายอาจใช้วิธีดำนาเป็นตัวเลือกในการปลูกข้าว เป็นวิธีการทำนาที่มีการนำเมล็ดข้าวไปเพาะในแปลงที่เตรียมไว้ (แปลงกล้า)ให้งอกเป็นต้นกล้า แล้วถอนต้นกล้าไปปักดำในนาที่เตรียมไว้ และมีการดูแลรักษาจนให้ผลผลิต การทำนาดำนิยมในพื้นที่ที่มีแรงงานเพียงพอเป็นตัวเลือกที่ดีในพื้นที่มีน้ำสม่ำเสมอ  การดำนาจะทำเป็นแถวเป็นแนวซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพ่นยากำจัดโรคแมลง และยังทำให้ข้าวแต่ละกอมีโอกาสได้รับอาหารและแสงแดดอย่างสม่ำเสมอกัน สำหรับระยะดำนั้นขึ้นกับชนิดและพันธุ์ข้าว จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าการทำนาหว่าน ทั้งจำนวนผลผลิตที่ได้ ข้าวเต็มเมล็ด น้ำหนักดี และง่ายต่อการจัดการดูแลอีกด้วย

ไม่ว่าการทำนาหว่านหรือนาดำ ทำในลักษณะไหนจะให้ได้ผลผลิตที่ดี มีจำนวนมาก เกษตรกรต้องหมั่นดูแลแปลงข้าวของตนเองสม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยในระยะเวลาที่เหมาะสม ปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการทำนตลอดทั้งฤดูการซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงลงในการปลูกข้าว และลดต้นทุนในการปลูกข้าว จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก็มีผลที่ทำข้าวที่ทำมีคุณภาพมากขึ้น และมีความสุขทุกครั้งที่ได้กินข้าวที่ตนเองปลูกเอง

อื่นๆ

เมนู