เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบันกลายเป็นการระบาดของสายพันธุ์แอลฟาและเดลตาที่แพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดิม และทำให้วัคซีนที่เรายังมีอยู่อย่างจำกัดอาจจะได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลง เราเริ่มมีความต้องการเตียงผู้ป่วยวิกฤต (ICU) เพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่น้อยกว่า 30 เตียงต่อวัน แม้จะทำการระดมทรัพยากรเพิ่มเตียงเพิ่มคนอย่างไรก็อาจจะไม่เพียงพอในที่สุด จนอาจจะทำให้อัตราป่วยตายของผู้ติดเชื้อโรคโควิดสูงมากขึ้น และเริ่มมีผลกระทบต่อผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ เราอาจจะยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ตกค้างอยู่ในชุมชนมากเกินไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสายพันธุ์แอลฟาและเดลตาแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วจนเราตามตรวจกลุ่มเสี่ยงในคลัสเตอร์ที่ทำการเฝ้าระวังได้ไม่ทัน แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่จำนวนมากไม่มีอาการ (ไม่มีใครทราบสัดส่วนที่แน่นอนของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการแต่อาจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเพียง 50-65% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดตามความรู้ที่ได้จากการระบาดระลอกแรกในจีน) ทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่อยู่นอกคลัสเตอร์การระบาดยังไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ยังไม่ได้รับการตรวจ ยังไม่อยู่ในระบบตามรอยโรค ทำให้ยังสามารถแพร่เชื้อต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการแพร่เชื้อในครอบครัวหรือที่ทำงาน

เราควรปรับให้มีระบบการกักแยกโรคที่บ้าน เฉพาะสำหรับประชากรที่ผลตรวจเป็นบวกชัดเจนแต่เป็นกลุ่มที่น่าจะจัดการตัวเองได้เพียงพอที่จะทำการเว้นระยะห่างทางกายภาพในครัวเรือน จนทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อในครัวเรือนและในชุมชนได้ไม่มาก เพื่อดึงเตียงโรงพยาบาลกลับไปให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการตัวเองได้

และเนื่องจากวัคซีนที่เรามีอยู่มีประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่เชื้อได้ลดลงในการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ และจำเป็นต้องรอเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีดครบ 2 เข็ม (ไม่สามารถฉีดเพียง 1 เข็มสำหรับป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ หรือกระทั่งบางวัคซีนแม้จะฉีดสองเข็มแล้วก็ยังอาจไม่สามารถป้องกันได้) เราจึงไม่ควรกระจายวัคซีนเป็นเบี้ยหัวแตกไปทั่วประเทศในสถานการณ์ล่าสุดนี้ เพราะอย่างไรก็ตามด้วยจำนวนและประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระยะสั้นได้

อื่นๆ

เมนู