โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)

บทความรายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนกุมภาพันธ์

          โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน เป็นการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจในตำบล ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเป็นไปตามเป้าหมายทั้ง 16 เป้าหมาย ดิฉัน นางสาวเสาวรัตน์ อุ่นจันทร์ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ได้รับหมอบหมายให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นในตำบลร่อนทอง ตามเป้าหมายที่ 12 ระบบการดูแลสุขภาพชุมชนดูแลประชาชนทุกคน เพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา และลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตามแบบฟอร์มการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ในชุมชนบ้านเสม็ด บ้านขาม บ้านโคกเมี๊ยะ บ้านปรือเกียน และบ้านหนองแม่มด

จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลตามเป้าหมายที่ 12 ระบบการดูแลสุขภาพชุมชนดูแลประชาชนทุกคนในตำบลร่อนทอง พบผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 300 คน ผู้พิการ 320 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ 16 คน ผู้ป่วยจิต 30 คน ผู้ป่วยระยะสุดท้าย 30 คน และคนยากจน 30 คน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการดูแลสุขภาพชุมชน ได้แก่ กองสวัสดิการสังคม กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ในส่วนของกองสวัสดิการสังคม ได้มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วย และดำเนินการจัดสวัสดิการเรื่องเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้ป่วย ส่งเสริมสวัสดิการให้แก่เด็กและเยาวชน เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีการจัดหากองทุนสนับสนุนด้านสุขภาพจาก เพื่อช่วยเหลือประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รพ.สต. และอาสาสมัคร (อ.ส.ม.) สำหรับรพ.สต. ดำเนินการด้านงานอนามัยโรงเรียน ตรวจสุขภาพเบื้องต้นแก่นักเรียน เด็กเล็กและเด็กปฐมวัยได้มีการตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การฉีดวัคซีนเด็ก และได้รับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุกปี รพ.สต.ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลขั้นต้น การฝากครรภ์ การให้บริการสร้างเสริมภูมิคุมกันโรค คัดกรองภาวะผิดปกติต่างๆ งานฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งต่อผู้ป่วยกรณีผู้ป่วยหนัก สำหรับการสำรวจการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีการป้องกันตนเองเมื่อออกนอกพื้นที่ชุมชน แต่หากอยู่ในพื้นที่จะไม่ค่อยตระหนักถึงการป้องกันโรค ด้วยมีความเชื่อว่าชุมชนของตนไม่เป็นพื้นที่เสี่ยง

การลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลร่อนทอง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านเป็นอย่างดี แต่มีบางท่านที่ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงประเด็นสำคัญในโครงการ เนื่องจากการประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการยังไม่ทั่วถึง ทำให้มีอุปสรรคเล็กน้อยในการเก็บข้อมูล และจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในตำบลร่อนทอง บางชุมชนได้มีการรวมกลุ่มทำน้ำพริกขาย มีกลุ่มทอผ้าไหม และเลี้ยงวัว แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ได้จัดตั้งกลุ่มธนาคารขยะ เพื่อให้ชาวบ้านนำขยะรีไซเคิลมาขายเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

   วีดีโอแนะนำตำบลร่อนทอง

ภาพประกอบกิจกรรม

 

 

อื่นๆ

เมนู