น้ำหมักชีวภาพ
น้ำหมักชีวภาพ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากเกษตรกรนำเศษพืช สัตว์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นไปหมักกับกากน้ำตาล และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายท้องถิ่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีการผลิตการนำน้ำหมักไปใช้แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของวัตถุดินที่ใช้ กรรมวิธีในการหมัก ระยะเวลาที่หมัก ตลอดจนวิธีใช้กับพืชและการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ พอจะแยกชนิดและอัตราส่วนในการผลิตตามวัสดุหลักที่ใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพได้ 2 ประเภท คือ
1. น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากพืช ได้แก่ ผักต่างๆ ผลไม้ วัชพืช ตลอดจนพืชสมุนไพร ที่ใช้อัตราส่วน ผัก ผลไม้ วัชพืช พืชสมุนไพร 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน
2. น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์ ได้แก่ ปลาเล็ก หอยเชอรี่ เปลือกกุ้ง กระดองปู แมลง เศษชิ้นส่วนของสัตว์ ไข่ ในอัตราส่วนของสัตว์ 3 ส่วน กากน้ำตาล 3 ส่วน
กระบวนการที่เกิดขึ้น จุลินทรีย์ต่างๆ มีทั้งที่ต้องการและไม่ต้องการออกซิเจนจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ผลิตเอนไซม์ออกมาทำการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ จากวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการหมักเหล่านั้นให้มีโมเลกุลเล็กลง บางส่วนถูกนำไปใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่ ส่วนที่เหลือจะปะปนอยู่ในของเหลวที่เกิดจากการหมัก ดังนั้น ในน้ำหมักชีวภาพที่ได้จะประกอบด้วย น้ำ จุลินทรีย์ต่างๆ ทั้งที่มีชีวิต และซากจุลินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ธาตุอาหารพืช และเศษชิ้นส่วนวัสดุที่นำมาหมัก ปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาหมัก ชนิดของจุลินทรีย์ที่ทำการย่อยสลาย สภาพแวดล้อมในการหมักและระยะเวลาที่ทำการหมัก การผลิตปุ๋ยน้ำหมักมีวิธีและส่วนผสมที่แตกต่างกัน แต่โดยหลักการแล้วจะเป็นการผลิตแบบกึ่งให้อากาศเป็นส่วนใหญ่โดยจะมีการคนหรือกวน บางกรณีอาจให้อากาศด้วยเครื่องพ่นอากาศก็ถือว่าเป็นการผลิตแบบให้อากาศ ซึ่งเกิดการย่อยได้เร็วกว่าและเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์น้อยกว่าด้วย การผลิตปุ๋ยน้ำหมักแบบให้อากาศจะเหมาะสมและสามารถนำไปใช้กับพืชได้อย่างปลอดภัย
น้ำหมักชีวภาพ สูตรฮอร์โมนไข่ ส่วนผสม
ไข่ไก่ทั้งฟอง 5 กิโลกรัม
กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม
แป้งข้าวหมาก 1 ลูก
ยาคูลท์ 1 ขวด
วิธีทำ
ไข่ไก่ปั่นให้ละเอียด ใส่ในภาชนะ ใส่กากน้ำตาล แป้งข้าวหมากบดละเอียด และยาคูลท์ ผสมให้เข้ากัน บรรจุในภาชนะปิดฝาสนิท ตั้งทิ้งในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก 7 วัน นำไปใช้ได้
วิธีใช้
น้ำหมัก 5-10 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ควรฉีดพ่นขณะแดดอ่อนหรือตอนเช้า การใช้เพื่อให้ออกดอกควรบำรุงต้นพืชให้มีความสมบูรณ์ดีก่อนฉีดพ่นประมาณ 2-3 ครั้ง เมื่อพืชออกดอกแล้วหยุดฉีดพ่นทันที
ผลวิเคราะห์คุณภาพ
1. สารควบคุมการเจริญเติบโตพืช กรดอินโดล -3- อะซิติก (IAA) 9.78 มิลลิกรัม/ลิตร กรดจิบเบอเรลลิก (GA3) ไม่พบ ซีอาติน (Zeatin) 87.29 มิลลิกรัม/ลิตร ไคเนติน (Kinetin) 76.40 มิลลิกรัม/ลิตร *ที่มาของข้อมูล: กลุ่มงานวิเคราะห์วิจัยวัตถุเคมีการเกษตร กองเกษตรเคมี (2544)
2. คุณสมบัติและปริมาณธาตุอาหารพืช
2.1 คุณสมบัติทั่วไป ความเป็นกรดด่าง 4.5 การนำไฟฟ้า 6.34 เดชิซีเมน/เมตร อินทรีย์คาร์บอน 15.19 % อัตราส่วนคาร์บอน/ไนโตรเจน 10/1 กรดฮิวมิก 2.34 %
2.2 ปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน 1.48 % ฟอสฟอรัส (P2O5) 0.23 % โพแทสเซียม (K2O) 1.82 % แคลเซียม 0.73 % แมกนีเซียม 0.15 % กำมะถัน 0.20 % เหล็ก 0.073 % แมงกานีส 0.001 % สังกะสี 0.0025 % ทองแดง ไม่พบ โบรอน 0.001 คลอรีน 0.36 %
ประสิทธิภาพของปุ๋ยน้ำหมักไข่ไก่ (ฮอร์โมนไข่)
1. ปุ๋ยน้ำหมักไข่ไก่ หรือฮอร์โมนไข่ ที่ได้จากการหมัก เมื่อนำไปฉีดพ่นในแปลงข้าวทำให้ต้นข้าวมีความแข็งแรง ใบและกาบใบตั้งชัน กอข้าวแข็งแรงไม่ล้ม ออกรวงดีมีน้ำหนัก ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และคุณภาพดี รวงมีขนาดใหญ่ และเมล็ดสวย ต้านทานต่อโรค นอกจากนี้ยังมีผลทำให้สุขภาพของเกษตรกรดีขึ้น และควรมีการใช้ฮอร์โมนไข่อย่างต่อเนื่องจะทำให้เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต(ลดการใช้สารเคมี)
2. เมื่อใช้ฮอร์โมนไข่แล้ว ช่วงอากาศหนาวข้าวจะไม่ติดหนาว ใบข้าวจะไม่เหลืองต้นไม่โทรมและยังเจริญเติบโตตามปกติ(ช่วงอากาศหนาวเกสรข้าวมักไม่สมบูรณ์ ผสมไม่ติดทำให้ข้าวลีบ)
3. เมื่อใช้ฮอร์โมนไข่ช่วงอากาศปกติ ใบข้าวจะเขียวอยู่แม้จะถึงระยะพลับพลึง ทำให้ต้นข้าวสามารถสังเคราะห์อาหารไปเลี้ยงเมล็ดข้าวได้ทุกเมล็ด ทั้งรวง ทำให้ข้าวไม่ลีบ
ข้อเสนอแนะโดยทั่วไปเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพ
1. ไม่ควรใช้น้ำหมักชีวภาพเพียงอย่างเดียวแทนปุ๋ย เนื่องจากมีปริมาณธาตุอาหารหลักน้อยมาก ไม่เพียงพอสำหรับพืชในการเจริญเติบโตและให้ดอกให้ผลจนครบวงจรชีวิต จำเป็นต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยเคมี
2. ในน้ำหมักชีวภาพมีสารควบคุมการเจริญเติบโตพืช ซึ่งสารนี้ไม่ใช่อาหาร หรือปุ๋ยที่จะทำให้พืชเจริญเติบโต แต่สารเหล่านี้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย(ส่วนในล้านส่วน)จะช่วยส่งเสริมหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะการเจริญเติบโตและให้ดอกให้ผลแก่พืช ทั้งนี้พืชจะต้องมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ดีเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้ให้ได้ผลกับพืชที่ปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำได้ หรือไม่อาจทดแทนปุ๋ยได้
3. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหมักชีวภาพในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง หรือช่วงที่มีโรคระบาด เพราะจะทำให้โรคระบาดรุนแรงมากขึ้น
4. เพื่อเป็นการประหยัดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรจึงควรทำน้ำหมักชีวภาพใช้เองโดยใช้เศษพืชและสัตว์ที่หาได้ภายในไร่นาของตนเองและไม่ควรซื้อจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการหมัก เพราะในเศษพืชและสัตว์มีจุลินทรีย์อยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว