การพัฒนาทักษะตามโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ
( SC07- ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์)
ปลาส้ม
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาดิฉัน นางสาวจันทิมา บุญรัมย์ (บัณฑิตจบใหม่) และคณะการทำงาน ได้ทำการประชาคมกันที่ตำบลเสม็ด เพื่อปรึกษาและพูดคุยกันต่อแนวทางในการพัฒนาชุมชน และได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการทำโครงการเกี่ยวกับการทำปลาส้ม เพื่อให้เกิดรายได้ภายในชุมชน ผลสรุปจากการโหวตได้โหวตให้มีการทำปลาส้ม เพื่อจะทำเป็นอาชีพเสริมสร้างภายในชุมชน ทำให้ดิฉันได้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมบทความเกี่ยวกับปลาส้ม
ปลาส้ม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลาที่ผ่านกรรมวิธีการหมักด้วยเกลือ ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวนึ่ง จนมีรสเปรี้ยว นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมบริโภคกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด การผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรมในครอบครัว อาศัยเทคนิควิธีที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทำให้ปลาส้มในแต่ละพื้นที่มีรสชาติ หรือคุณภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสูตรการผลิต ปลาที่นิยมนำมาใช้ทำปลาส้มเป็นปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลานวลจันทร์ และปลาสร้อย โดยปลาส้มแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- ปลาส้มตัว เป็นปลาส้มที่ทำจากปลาทั้งตัวที่ผ่าท้องควักไส้ออกแล้ว
- ปลาส้มชิ้น เป็นปลาส้มที่ทำจากปลาที่หั่นเป็นชิ้น
- ปลาส้มเส้น เป็นปลาส้มที่ทำจากเนื้อปลาล้วนที่หั่นเป็นเส้น
ปลาส้มจัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากมีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง
ปัจจุบันปลาส้มกลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการผลิตเพื่อเป็นการค้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทำให้คณะการทำงานและผู้นำชุมชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของตรงนี้ว่าผลิตภัณฑ์ปลาส้มสามารถนำมาสร้างเป็นอาชีพได้ และสามารถนำมาพัฒนาประชาชนในชุมชนได้เพื่อให้มีการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้คณะการทำงานจะได้เร่งการลงมือทำตามโครงการที่วางแผนไว้ต่อไป
นางสาวจันทิมา บุญรัมย์
บัณฑิตจบใหม่
SC07-ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์