จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวมากมายและยังเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟ ภูเขาไฟในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 6 ลูก ซึ่งน้อยคนนักจะรู้จักชื่อของภูเขาไฟทั้ง 6 ลูกนี้ (มีอะไรบ้าง เดี๋ยวบอกตอนท้ายครับ) ซึ่งในเดือนเมษายน ผมนายภัทรวิทย์ ปรุงเรณู สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ (SC-07) ประเภทประชาชน จะนำเสนอถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่ได้พบเจอในระหว่างลงพื้นที่เก็บข้อมูลผมได้รับผิดชอบในโครงการนี้ นั่นก็คือ…คือ…คือ เขากระโดง  เขากระโดงหรือเดิมเรียกว่า “พนมกระดอง” ที่เป็นภาษาเขมร แปลว่า กระดอง เพราะมีลักษณะคล้ายกระดองเต่า ต่อมาเพี้ยนเป็น “กระโดง”  เขากระโดงตั้งอยู่ในหมู่ 13 ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สภาพของภูเขาไฟลูกนี้ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงเนินเขามีเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกันสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 85 เมตร ลูกที่ 1 เนินทางทิศใต้เรียกว่า “เขาใหญ่”  ส่วนเนินที่ 2 ทางทิศเหนือเรียกว่าหรือ “เขาน้อย”  ความสำคัญของภูเขาไฟลูกนี้เสมือนเป็นธนาคารอาหารป่า เพราะอุดมไปด้วยพืชอาหารและสมุนไพรนานาประเภทกว่า 100 ชนิด  มีเห็ดกินได้กว่า 20 ชนิด นกน้ำและนกป่ากว่า 100 ชนิด สัตว์ที่พบบ่อยคืองูหลาม กระต่ายป่า ไก่ป่า กระรอกบินจิ๋วท้องขาว กระรอกหลากสี นกขุนแผนสีน้ำเงิน นกบั้งรอกใหญ่และนกกระรางหัวหงอก นอกจากนี้ยังพบ ต้นโยนีปีศาจ ต้นไม้ในตำนานที่หาชมได้ยากหรือภาษาพื้นถิ่นชาวเขมรเรียกว่าต้น “กะ-นุย-ขะ-มอย” ซึ่งต้นโยนีปีศาจ  เป็นไม้ประเภทยืนต้น ลักษณะไม้เปลือกแข็ง ลำต้นสูงใหญ่ ลักษณะของผลคล้ายๆ  ลูกมะกอก จะหล่นลงมาและแตกออกเป็นสองซีกจะปรากฏคล้ายอวัยวะเพศหญิง  มีเฉพาะในประเทศไทยพบตามซากภูเขาไฟเก่าเท่านั้น

เขากระโดงเป็นภูเขาไฟในบุรีรัมย์ที่ดับมอดมานานนับแสนปีจึงรับรองได้ว่าปลอดภัย ปัจจุบันมีสภาพเป็นสระน้ำเป็นซากภูเขาไฟที่ยังคงสภาพดีมีเส้นทางเดินชมรอบปล่องและมีสะพานแขวนให้ยืนชมปากปล่องภูเขาไฟได้อย่างชัดเจน

เมื่อขับรถต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เลยปากปล่องภูเขาไฟขึ้นไปจะเป็นที่ประดิษฐสถานของพระสุภัทรบพิตรองค์ใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่เป็นจุดชมวิวให้ผู้คนได้ชมทั้งทิวทัศน์ความงามของเมืองบุรีรัมย์ในมุมสูง

ใกล้ๆ กันยังมี  “หินลอยน้ำ” ให้ได้ชมกันด้วย โดยหินลอยน้ำเกิดขึ้นจากหินบะซอลด์ที่ถูกหลอมเหลว แล้วพ่นขึ้นมาบนผิวโลกจากการระเบิดของภูเขาไฟ และเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วขณะที่ก๊าสและไอน้ำที่อัดแน่นอยู่ในหิน จึงทำให้เกิดรูพรุนเมื่อเย็นตัวลงเเละทำให้กระจายแรงกดจนน้ำสามารถพยุงก้อนหินให้ลอยได้ (อาจเข้าใจยากหน่อยว่ามันลอยได้ยังไง  เอาเป็นว่ามันลอยน้ำก็แล้วกัน)

เกือบลืม…เขากระโดงยังมีเครื่องเล่นชนิดหนึ่งที่สร้างอยู่บนเขากระโดง นับเป็นเครื่องเล่นที่ลูกเล็กเด็กแดงที่มาเที่ยวเขากระโดงจะต้องลองเล่นเกือบทุกคน  สิ่งนั้นมีชื่อว่า “สิไหลเด้อ”  สำหรับวิธีการเล่นก็คือคนที่ต้องการจะเล่นจะต้องไปนั่งอยู่ด้านบนสุด จากนั้นก็สไลด์ปล่อยตัวลงมาตามร่องทางที่สร้างเอาไว้ได้อารมณ์การเล่นสไลเดอร์ประมาณเล่นสวนน้ำ แต่สิไหลเด้อที่นี่เค้ามีกฎเหล็กอย่างหนึ่งว่า “ห้ามเล่นตอนฝนตกเด็ดขาด หรือช่วงที่มีน้ำขัง เพราะมันจะทำให้ลื่นไหลเร็วมากจะบังคับและหยุดไม่อยู่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย

          สุดท้าย ท้ายที่สุด ใครที่มาบุรีรัมย์ นอกจากการเที่ยวชมความยิ่งใหญ่ของสนาม ช้างอารีน่าไม่ควรพลาด แวะไปสัมผัสบรรยากาศ “เขากระโดง” หรือเยี่ยมเยียนกิจกรรมตามชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจะได้อิ่มเอมกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสินค้าและบริการของชุมชนในหมู่ 13 นะครับ ปล. โควิดซา ค่อยมาเที่ยว *****ภูเขาไฟทั้ง 6 ลูกในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ภูเขาไฟพนมรุ้ง ภูเขาไฟกระโดง ภูเขาไฟเขาอังคาร ภูเขาไฟไปรบัด ภูเขาไฟเขาคอกและภูเขาไฟหลุบ*****

 ผู้เขียนบทความประจำเดือนเมษายน นายภัทรวิทย์ ปรุงเรณู สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ 

ลิงค์วิดีโอ

อื่นๆ

เมนู