โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

บทความประจำเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง เห็ดป่าหน้าฝน

           จังหวัดบุรีรัมย์มีภูเขาที่รู้จักกันดีในชื่อ เขากระโดง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ปัจจุบันเขากระโดงนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแล้ว ยังเป็นธนาคารอาหารให้กับคนในชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงอีกด้วย  โดยเฉพาะเห็ดป่าพบกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ทั้งในด้านอาหารและสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกํา การเก็บเห็ดมีองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีจำนวนผู้รู้ลดลง ข้าพเจ้านายภัทรวิทย์ ปรุงเรณู สังกัดหลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ (SC-07)  จึงเกิดความสนใจเรื่องของการเก็บเห็ดและการจำแนกชนิดของเห็ด ซึ่งในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการเก็บเห็ดเผาะ จากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้ การเก็บเห็ดจะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และชุดสําหรับการเดินป่า ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเห็ด ประกอบด้วย ไม้เพื่อเขี่ยใบไม้ที่ทับถมเห็ด ช้อนตักและตะกร้าเพื่อใส่เห็ด  ส่วนชุดในการเก็บเห็ดควรใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบ หมวก ผ้าคลุมหน้าและยากันยุง วิธีการหาเห็ดเผาะต้องสังเกตที่ใต้ต้นไม้หรือพุ่มไม้ ตรงไหนที่มีเห็ดเผาะ หน้าดินจะมีรอยแตกและนูนขึ้น จากนั้นต้องใช้ไม้เขี่ยหน้าดินจะเจอเห็ดอยู่ในดินและใช้ช้อนตักขึ้นมา แต่ถ้าหากมีฝนตกก็จะทำให้หาเห็ดได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเพราะฝนที่ตกลงมาจะชะล้างหน้าดินออกทำให้มองเห็นเห็ดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็ดเผาะสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 300- 500 บาท แต่ส่วนใหญ่ก็จะนำไปรับประทานก่อนที่จะนำไปจำหน่าย 

สัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชนและบริเวณวัดป่าเขาน้อย

ชุดในการเก็บเห็ด

         การเก็บเห็ดเผาะโดยใช้ช้อนตัก

             นอกจากนี้ข้อควรระวังในการเก็บเห็ดเผาะ จะมีเห็ดชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า เห็ดเผาะแบบมีราก มีลักษณะคล้ายกันมาก ต่างกันตรงที่โคนมีเส้นเป็นกระจุกยึดติดกับดิน หากสังเกตดูด้วยสายตาอาจแยกชนิดได้ยาก จึงต้องใช้ความชำนาญผสมผสานกับประสบการณ์มาช่วยวิเคราะห์  เมื่อรับประทานเเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว หากมีอาการรุนแรงมาก การทำงานของตับและไตอาจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ลักษณะของเห็ดเผาะมีราก (ซ้าย) และเห็ดเผาะ (ขาว)

            ปัจจุบันความเชื่อที่ว่าเห็ดมีรอยแมลงกัดกินนั้นแปลว่ากินได้ ไม่เป็นความจริง เนื่องด้วยคนกับสัตว์ไม่เหมือนกัน เห็ดบางชนิดสัตว์กินได้ คนกินไม่ได้และบางครั้งสัตว์กินแล้วไปตายที่อื่น เพราะอาการไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที ความเชื่อที่ว่าเห็ดมีสีขาวกินได้ เห็ดมีสีฉูดฉาดเป็นเห็ดพิษกินไม่ได้นั้นไม่จริง เพราะเห็ดที่มีพิษรุนแรง คือ ระโงกหิน มีลักษณะสีขาว ผู้เขียนบทความจึงแนะนำวิธีที่ดีที่สุด คือ ไม่รับประทานเห็ดที่ไม่รู้จักและไม่แน่ใจ รับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจเท่านั้น หากเมื่อรู้ว่ารับประทานเห็ดพิษเข้าไปจะต้องทำให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด พร้อมกับดื่มน้ำอุ่นผสมถ่านบดละเอียด เนื่องจากผงถ่านมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษ หากผู้ป่วยอาเจียนยากให้ผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา กับน้ำอุ่นดื่มด้วยจะทำให้อาเจียนง่ายขึ้น แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันทีพร้อมกับตัวอย่างเห็ด

นายภัทรวิทย์ ปรุงเรณู หลักสูตรคณะวิทยาศาสตร์ (SC-07) ประเภท ประชาชน

ผู้เขียนบทความประจำเดือน พฤษภาคม 2564

ลิ้งค์วีดีโอ

อื่นๆ

เมนู