วัดรุ่งอรุณหนองบัวเจ้าป่า

นัฐฐา กลิ้งรัมย์

            วัดหนองบัวเจ้าป่า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2450 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย โดยกลุ่มคนที่อพยพมาจากบ้านกระโพ และ บ้านตากลาง ของตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นกลุ่มคนที่มีความชำนาญในการจับช้างมาก มาตั้งรกรากหลังจากโขลงช้างป่าหนีไปอยู่ที่เขตเขาใหญ่ จากนั้นจึงได้สร้างที่พักสงฆ์ขึ้นโดยการนำของผู้ใหญ่บ้าน คือ นายนวน กานะ โดยสร้างวัดใกล้หนองบัว จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดหนองบัวเจ้าป่า ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2491

ในปี พ.ศ.2523 มีการซ่อมแซมเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคา และในปี พ.ศ. 2548 อุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่าได้รับการอนุรักษ์ โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ประกอบด้วย จังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสตึก กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรบ้านหนองบัวเจ้าป่า โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ไพรลดา เป็นผู้ดำเนินการบูรณะระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 ถึง19 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 950,000 บาท จากการดำเนินการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องทำให้อุโบสถของวัดหนองบัวเจ้าป่าสามารถรักษาคุณค่าทางศิลปะและทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

อัตลักษณ์ที่สำคัญของชาวบ้านหนองบัวเจ้าป่า คือ อุโบสถวัดหนองบัวเจ้าป่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2488 โดยมีพระครูสุจิตต์ ธรรมประหัฏฐ์ เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ลักษณะของอุโบสถเป็นอาคารขนาดเล็ก มีผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุขหน้าประดับลายปูนปั้น เช่น ลายพันธุ์พฤกษา ลายเทพพนม รูปเทวดา และรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ประตูหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง ราวบันไดทั้ง 2 ข้าง ประดับด้วยพญานาคปูนปั้น ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าว มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง หางหงส์ ที่ทำมาจากไม้แกะสลัก ภายในโบสถ์เป็นห้องโล่ง ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ กึ่งกลางผนังด้านในสุดก่อเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยซึ่งนายเสรี อิศรางกูล ณ อยุธยา เป็นผู้นำ มาถวาย ลักษณะของซุ้มประตูและหน้าต่างที่เป็นรูปวงโค้งและลวดลายปูนปั้นที่ประดับเทียบเคียงได้กับอุโบสถในแบบศิลปกรรมพื้นถิ่นอีสานที่สร้างโดยช่างชาวญวนที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสมีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 8 เช่นสิมวัดกลางอำเภอท่าอุเทน

Tags:

อื่นๆ

เมนู