ผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตหรือประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้สองมือนั้นเป็นงานแฮนด์เมด (Handmade) ที่มีคุณค่าสวยงามและอ่อนโยนตามธรรมชาติ โดยผู้รังสรรค์งานแต่ละชิ้นได้ใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของตนเองในการทำขึ้นมา  บ้านหนองเกาะพัฒนา ตำบลสตึก อำเภอสตึกแห่งนี้ จากการสำรวจข้อมูลพบว่าชาวบ้านมีความสามารถในการทำเครื่องจักรสาน ทอเสื่อ ทอผ้าไหม ทำปลาส้ม ทำขนม ทำอาหารพื้นถิ่นได้ ในบทความนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในการผลิตเครื่องจักรสานชื่อคุณตาทอง และปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในการผลิตเสื่อกกชื่อคุณยายผาย

ปราชญ์ชาวบ้านท่านแรกชื่อคุณตาทอง ปาปะขัง อายุ 86 ปี คนในหมู่บ้านเรียกท่านว่า “ตาทอง” มีความสามารถในการทำเครื่องจักรสาน โดยทำได้ตั้งแต่อายุสิบกว่าปี โดยหัดทำตามที่พ่อแม่สอนมา และทำเป็นพร้อมกับเพื่อนๆรุ่นราวเดียวกันเป็นคนในหมู่บ้านหนองเกาะพัฒนานี้ เครื่องจักรสานที่ตาทองสานนั้นเป็นเครื่องจักรสานพื้นบ้านอีสาน ได้แก่ กะต้า ไซ ซูด ต้อน จั่น ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา กระด้ง ฯลฯ คุณตาทองยิ้มแล้วก็เล่าให้เราฟังว่า ขั้นตอนในการทำจักรสานแต่ละชิ้นนั้น คุณตาเริ่มจากปลูกต้นไผ่ที่สวนของคุณตาแล้วเมื่อไผ่โตได้ขนาดก็จะทำการตัดไผ่ เลาะไผ่ และฟานให้ไผ่เป็นเส้น หรือตีไผ่ให้เป็นแผ่น ขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่คุณตาจะผลิตนั้นเอง หลังจากนั้นคุณตาก็จะเริ่มนำไผ่มาสานเป็นงานแต่ละชิ้นไปเรื่อยๆ โดยระยะเวลาในการผลิตต่อ 1 ชิ้นงานนั้น ประมาณ 1 วันหรือบางชิ้นงานก็ 2 วันก็เสร็จสามารถนำมาจำหน่ายได้ (ผลงานดังภาพข้างล่างนี้)

เมื่อสัมภาษณ์คุณตาทองเรียบร้อยเราก็เดินทางไปพบปราชญ์ชาวบ้านท่านที่สองชื่อคุณยายผาย เสนาโนฤทธิ์ อายุ 65 ปี คนในหมู่บ้านเรียกท่านว่า “ยายผาย” คุณยายกวักมือเรียกเราและทักทายด้วยความเป็นมิตรในขณะที่มือทั้งสองข้างกำลังนั่ง “ต่ำสาด” (ทอเสื่อไหล หรือเสื่อกก) อยู่หน้าบ้าน “มานี่สิหนู ยายจะให้ดูสาดที่ยายต่ำไว้มีหลายเลยน่ะ แต่ชื่อลายอะไรบ้างยายไม่แน่ใจ ยายคิดเอง” คุณยายเรียกให้เรามาดูผลงานเสื่อที่ท่านทอไว้ และเล่าให้เราฟังว่าท่านหัดทอเสื่อจากพี่สาว ตั้งใจทำไว้ให้ลูกหลาน และไว้ใช้ในบ้านของตนเอง ซึ่งคุณยายได้ปลูกต้นไหล หรือต้นกกไว้หลังบ้าน เมื่อโตได้ขนาดก็จะทำการตัดแล้วไปตากแดดให้ได้ที่ หลังจากนั้นนำมาย้อมสีตามใจชอบ แล้วทำการทอเสื่อตามลำดับไป โดยระยะเวลาในการผลิตต่อ 1 ชิ้นงานนั้นประมาณ 4 วัน (ผลงานดังภาพข้างล่างนี้)

อื่นๆ

เมนู