วิถีชุมชนหนองไผ่ ที่แสนเรียบง่ายและน่าอยู่

                    “ กล่าวได้ว่า ” วิถีชีวิตของชุมชน คนในชนบทส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตร มีครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต และมีแรงงานจากสมาชิกในครอบครัว โดยไม่ต้องจ้างแรงงาน คนไทยส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ในชนบท แต่ก่อนเราเรียกชนบทว่า “บ้านนอก” ข้าพเจ้าได้ดำเนินการรับผิดชอบในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยฯ การลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่เสาร์ สุขรัตน์ ในการอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลของชุมชนเพื่อเป็นประโยชน์แก่โครงการ ชาวบ้านทุกคนน่ารักเป็นกันเอง ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน เป็นอย่างดี รวมถึงแบบสอบถามผลกระทบจากโควิด-19

                   บ้านหนองไผ่ หมู่9 ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหมู่บ้านที่มีประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่น ทั้งหมด 170 หลังคาเรือน มีอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และเลี้ยงสัตว์เป็นรอง ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา ส่วนมากจะปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ทำนา สวนยางพารา หรือจะเป็นการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การปลูกพืช ผักปลอดสารพิษ ตามฤดูกาล ใช้ชีวิตการดูแลตัวเองแบบพอเพียง ใช้จ่ายประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย อยู่กับธรรมชาติ ถ้าปีไหนฝนตกตามฤดูกาล พืชผลก็จะงอกงาม ถ้าปีใดแห้งแล้ง พืชผลก็จะเสียหาย ชาวบ้านมีข้าวกิน ธรรมชาติเป็นตัวกำหนด วิถีชีวิตที่สำคัญของคนในชุมชน โดยจะทำนาในช่วงฤดูฝนที่เรียกกันว่า “นาปี” พอช่วงฤดูแล้งที่ว่างงานในไร่นาก็จะหารายได้เสริม เป็นชุมชนที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการทำเกษตร ไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

                โดยภาพรวมแล้ว ทำให้เห็นวิถีการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม พอถึงช่วงฤดูแล้งที่ว่างงานไร่นา คนในชุมชนเหล่านี้จะทำงานอื่นๆ เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทอเสื่อด้วยไหล และกก เพื่อไว้ใช้และขายเป็นรายได้แก่ครอบครัว แต่ยังไม่ได้เติบโตมั่นคง และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาส่งเสริมอีกมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาความยากจน ปัญหารายได้ของครัวเรือน และภาระหนี้สิน ปัญหาขาดแหล่งน้ำที่ไว้ใช้ในการทำเกษตรนอกฤดูกาล และคนในชุมชนอยากมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแบบยั่งยืน เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก เพื่อเป็นอาชีพเสริมเวลาว่างจากการทำเกษตร ปัญหาเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและชุมชุน ในปัจจุบันอย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป

Tags:

อื่นๆ

เมนู